สร้างความคึกคักไม่น้อยสำหรับการลงตรวจราชการและนอนค้างคืน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

เดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยว หวังเพิ่มรายได้ประชาชน

สอดคล้องหลักการเศรษฐกิจนำความมั่นคง เพื่อสร้างความสงบในพื้นที่

การลงพื้นที่ และประกาศมาตรการดังกล่าวถูกทาง และจะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าชาวบ้านได้หรือไม่

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

การใช้เศรษฐกิจนำเพื่อแก้ความไม่สงบเคยทำมาแล้วในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ช่วงพรรคไทยรักไทยทุ่มเงินกับการใช้เศรษฐกิจนำ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ใช้เศรษฐกิจนำ เพราะมองว่าดีกว่าการใช้ความมั่นคง หรือการทหารอย่างเดียว

แต่ไม่ค่อยสัมฤทธิผลทั้งสองรัฐบาล อาจเพราะช่วงนั้นเหตุการณ์รุนแรงมากเลยแค่พยุงเหตุการณ์ เหมือนคนไข้หนักแต่รักษาแบบประคับประคองให้คนในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้ ไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม

ส่วนการใช้เศรษฐกิจนำในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน คงประเมินแล้วว่าเหตุการณ์เริ่มลดลงแล้วบ้าง เพราะมีการพูดคุยสันติภาพแม้จะไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไร แต่นายกฯ ก็เชื่อว่าการใช้เศรษฐกิจนำจะช่วยได้

เป็นสิ่งท้าทายว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่ามีความขัดแย้งรุนแรงและยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่สูงเหมือนเมื่อก่อนแต่ปัจจัยเสี่ยงก็คือเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถึงบอกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย

แนวทางที่เคยทำกันมาคือการใช้การเมืองสลับไปมากับการทหาร ความมั่นคงกับสันติภาพก็มาคู่กัน รวมไปถึงการทุ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจและงบทางการทหาร

การใช้เศรษฐกิจนำจึงเป็นความไม่แน่นอนว่าจะนำได้หรือไม่ ความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ ยังมีข้อเรียกร้องของนักธุรกิจในพื้นที่ เช่น เรื่องซอฟต์โลน จึงยังมีปัญหาเรื่องการลงทุนจากข้างนอก

อยู่ที่รัฐบาลจะใช้แนวทางอย่างไร เอาเรื่องความมั่นคง หรือการสร้างความเข้าใจ สันติภาพ หรือกลุ่มเศรษฐกิจ ระบุให้ชัด ไม่เช่นนั้นทำแบบนี้จะเหมือนฉาบฉวยแค่ผิวเผิน จึงน่าเป็นห่วงว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจะแก้ยาก ต้องทำให้เกิดกระบวนการความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการสันติภาพกับเศรษฐกิจ

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่นายกฯโฟกัสไปที่การพึ่งพาการท่องเที่ยวนั้น จุดที่ลงพื้นที่ยังแคบไป ไม่ครอบคลุม ต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าจุดที่ลงพื้นที่มีผลกระทบเรื่องอะไร ทั้งการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชน รายได้และอาชีพ

แต่เท่าที่ดูการลงพื้นที่ของนายกฯ กระจุกอยู่แต่บางพื้นที่ หรือไปแค่จุดไฮไลต์ และผลกระทบจากการพัฒนาการท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจกลับไม่ถูกพูดถึงเลย

การกระตุ้นการท่องเที่ยว 3 จังหวัดต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่เชื่อมโยงท้องถิ่น หรือทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เช่น สินค้าพื้นเมือง การผสมผสานงานวิจัยที่สร้างสรรค์ ทำให้ผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็กได้ประโยชน์

และต้องสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคง สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย หลายๆ เรื่องต้องนำมาเชื่อมโยงกัน

ส่วนการปั้นไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลนั้น พูดกันมาหลายปีแต่ก็ยังทำไม่ได้ เรื่องง่ายๆ พื้นๆ อย่างเนื้อฮาลาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีโรงงานเชือดและผสมเนื้อฮาลาลเลย แต่นำเนื้อวัวมาจากข้างนอก ซึ่งยังมีปัญหาอีกเยอะ ต้องมองไปทีละเรื่อง

อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว

รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม

ม.อ.ปัตตานี

นโยบายใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบเป็นทิศทางที่ดีมาก

ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นเราเลิกพูดถึงการใช้ความรุนแรงมาสักพักใหญ่แล้ว คนในพื้นที่เน้นเรื่องของพหุวัฒนธรรม เรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่น

เพราะเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจในพื้นที่ดี คนที่นี่กินดีอยู่ดี ก็จะส่งผลให้ปัญหาต่างๆ น้อยลง นี่คือวิธีคิดของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้น การลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของนายกฯ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีมากๆ ที่ผู้นำประเทศเห็นเหมือนกับคนในพื้นที่

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น จากผลสำรวจของทาง ม.อ.เรื่องปัญหาความไม่สงบมาตลอดตั้งแต่ปี 47 สถานการณ์ความรุนแรงลดลงทุกปี โดยเฉพาะในปี 66 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

เราพบคำว่า “สันติภาพเชิงบวก” การมีงานทำของผู้คนนำมาซึ่งรายได้ที่เพียงพอ การเสนอภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและนำไปสู่สันติภาพเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้เศรษฐกิจแก้ปัญหาความรุนแรง ยังมีมิติอื่นๆ ที่สอดคล้องกันไปหมด เช่น เรื่องการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ในการสร้างเศรษฐกิจ ที่มองว่าจะช่วยแก้ปัญหาในภาพรวมได้

หากรัฐบาลสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก เช่น ที่นายกฯ ลงพื้นที่ย่านเมืองเก่าปัตตานี ม.อ.ปัตตานีเข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ของชุมชน จากช่วงปี 59 บริเวณนี้เงียบเหงามาก

พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีวัฒนธรรมที่เด่นชัดมาก คืองานมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมจีน และเส้นทางย่านเมืองเก่าปัตตานี ที่จะเห็นทั้งชุมชนมุสลิม มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุด หรือมัสยิดกลางที่สวยที่สุดในประเทศ รวมทั้งวัดวาอารามหลวงที่สวยงาม

หากได้รับการโปรโมตถึงพหุวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ผู้คนอยู่ร่วมกันแบบนี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม ถือเป็นจุดขาย 3 วัฒนธรรม

ส่วนเรื่องศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียนนั้น อาหารใน 3 จังหวัดอร่อยและราคาถูกกว่ามาเลเซีย นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก หากนายกฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและพัฒนา จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ด้วย

สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

การใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบเป็นแนวทางที่ดี หากดูจากจำนวนเหตุการณ์ในพื้นที่แม้ยังมีอยู่แต่ก็ลดลงพอสมควร

ประกอบกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณี ดังนั้นเมื่อความมั่นคงทางการทหารเริ่มดีขึ้น ก็ต้องเอาความมั่นคงทางเศรษฐกิจปากท้องมาเสริม การใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำจึงต้องกระตุ้นอย่างจริงจัง

จากการลงพื้นที่พักค้างคืน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือว่านายกฯ มีความตั้งใจ และพยายามสร้าง ภาพลักษณ์ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้น่ากลัว ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และภาคเอกชน

อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ด่านความมั่นคงที่ลดจำนวนลง เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น แต่แม้สถานการณ์ความไม่สงบดูเบาบางลง แต่แนวทางการใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำยังต้องควบคู่ไปกับเรื่องความมั่นคงด้วย ด่านความมั่นคงมากเกินไปอาจเป็นผลเสียได้ แต่จะทิ้งเรื่องความมั่นคงไปเลยไม่ได้

ที่บอกเอาทหารออกนอกพื้นที่ ไม่ได้หมายความว่าจำนวนทหารต้องลดลง แต่น่าจะเป็นการลดบทบาททหาร การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยคงต้องมีอยู่ แต่ทำอย่างไรให้ดูไม่โดดเด่นเกินไป

การเสริมสร้างศัพยภาพโดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีจุดแข็งหลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ทั้งทะเล และน้ำตก แต่ถูกละเลยมาอย่างยาวนาน หากดึงศักยภาพตรงนี้ออกมาได้จะเป็นตัวขับเคลื่อนด้านการพัฒนาในพื้นที่ได้ดีแน่นอน

และควรเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง สิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ และสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ทั้งหมดควรเร่งดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้ครบวงจรในการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้

ที่รัฐบาลพยายามให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลนั้น ด้วยบริบทต่างๆ น่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังได้ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีจุดเชื่อมมุสลิมไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย

ดังนั้น เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาที่มีความคล้ายคลึงกัน ความเป็นมุสลิมเหมือนกัน และองค์ความรู้ด้านฮาลาลเหมือนกัน จึงคิดว่าแนวทางดังกล่าวน่าจะผลักดันไปได้

การแก้ปัญหาความไม่สงบทุกรัฐบาลมีความตั้งใจไม่แตกต่างกัน พยายามทำให้พื้นที่สงบ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลปัจจุบันก็เหมือนมารับไม้ต่อเรื่องการพัฒนา เพราะเห็นว่าความมั่นคงดีขึ้นมากแล้วจึงมาเติมเต็มเรื่องเศรษฐกิจ

แต่สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม คือ ภัยแทรกซ้อนเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ยังเป็นสิ่งที่พูดถึงในพื้นที่มาตลอด หากแก้ไขเรื่องนี้ได้ประชาชนในพื้นที่น่าจะชื่นชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน