ยุทธพร แนะ รัฐบาล ผ่าทางตัน เร่งทำผลงาน ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ชี้ ฝ่ายค้านไม่ยื่นซักฟอกเพราะรอหมัดเด็ด ไม่ถึงขั้นมีดีลลับ

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงผลงานของรัฐบาล ว่า การขับเคลื่อนผลงานมีความสำคัญกับรัฐบาล เพราะเป็นความคาดหวังของประชาชน และการจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้เวลายาวนาน 3-4 เดือน ประชาชนจึงคาดหวังสูง โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย

แต่วันนี้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการบริหารงาน ไม่เหมือนกับรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในอดีตที่มีเสียงค่อนข้างเด็ดขาด รวมทั้งไม่ได้มีเสียงอันดับหนึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการตัดสินใจ เพราะเป็นรัฐบาลผสม การตัดสินใจจึงใช้ลักษณะของการประนีประนอม

อีกทั้งกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น จากองค์กรอิสระ เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีการตรวจสอบตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำนโยบายด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำงานของรัฐบาล ขณะเดียวกันการมีอยู่ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ดึงคะแนนความนิยมกันไปมา

จึงเป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลจะต้องผ่าทางตันทางการเมืองตรงนี้ให้ได้ ในการที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามจากประชาชนและสังคม ที่มองเรื่องประสิทธิผลในทางนโยบาย ทั้งที่แถลงต่อรัฐสภาและที่หาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล

รวมถึงในอนาคตจะมีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติจากสว.ด้วย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการเมืองนอกสภา และในอนาคตหากฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล ที่จะต้องตอบให้ชัดเจนในนโยบายต่างๆ รวมถึงการเข้ามาตอบกระทู้ในสภาที่จะต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

เมื่อถามกรณีอีก 3-4 เดือนจะครบการทำงาน 1 ปีของรัฐบาล มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ต้องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การปรับครม. มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง แต่เป็นการปรับเล็ก เมื่อทำงานครบ 6 เดือนหรือ 1 ปี ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการประเมินการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละคน

ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ทางการเมือง อาจจะมีการสลับผลัดเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ โดยการปรับครม.อาจจะเป็นลักษณะของการจูนเครื่อง ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลมากขึ้น หรือการเชื่อมต่อของกลไกรัฐ กลไกราชการให้ไร้รอยต่อมากขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดผล

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับครม. เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล การเมืองในแต่ละพรรค ดังนั้น กระบวนการในการพูดคุยเพื่อสร้างความลงตัว น่าจะเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ในการที่จะเจรจาเพื่อจะวางตำแหน่งหรือวางยุทธศาสตร์ที่ทุกฝ่ายยอมรับและเป็นไปได้

“ท้ายสุดการเมืองในระบบรัฐสภา รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ เสียงข้างมากในสภาเป็นเรื่องสำคัญ หากความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลยังไปกันได้ หรือเป็นไปในทิศทางเชิงบวก โอกาสที่รัฐบาลไปต่อก็มีความเป็นไปได้สูง

ทุกวันนี้การเมืองนอกสภาก็มีการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้น เสถียรภาพของรัฐบาลในสภา คือการต้องคุยกันให้ลงตัว ในการเดินหน้ายุทธศาสตร์ รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรี” นายยุทธพร กล่าว

เมื่อถามว่าในมุมของฝ่ายค้านที่ผ่านมา 6-7 เดือน มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์บ้าง และช่วงใกล้ปิดสมัยประชุมสภา หากยังไม่ยื่นอภิปรายจะเป็นการเสียโอกาสหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านเป็นที่จับตาของสังคม

เพราะในอดีตเราอยู่ในพื้นฐานความคิดความเชื่อทางการเมืองว่า ใครที่เป็นรัฐบาลจะมีความได้เปรียบ ทั้งเรื่องงบประมาณ ระบบราชการ และกำลังพลในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ แต่การเมืองในขณะนี้เปลี่ยนไปหลายมิติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐบาลก็สามารถสร้างพื้นที่ สร้างผลงานในการเรียกคะแนนนิยมได้

และปรากฏการณ์ของพรรคก้าวไกลก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่จนมาเป็นพรรคก้าวไกล ไม่เคยเป็นรัฐบาลเลย แต่ในปี 2566 พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ได้สส.มากกว่าเดิมถึงสามเท่า

เมื่อมาในสภาฯ สมัยปัจจุบัน การทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกลก็ถูกตั้งคำถามว่า ยังมีการตรวจสอบต่างๆ และมีความเข้มข้นเหมือนสภาฯ ชุดที่แล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ใหญ่ของฝ่ายค้านที่จะต้องมีบทบาทในการตรวจสอบ และสังคมก็ตั้งคำถามว่า เอกภาพของฝ่ายค้านระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านได้หรือไม่

รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจสังคมก็ตั้งคำถาม หากพรรคก้าวไกลไม่อภิปรายในสมัยประชุมนี้ เป็นเพราะมีดีลลับหรือไม่ ทั้งนี้ ตนคิดว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดหรือไม่นั้น มาจาก 2 เรื่องใหญ่ คือ สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และเงื่อนไขกติกาทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในหนึ่งปีจะทำได้แค่หนึ่งครั้งเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายค้านจะยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องเป็นหมัดเด็ด หมัดน็อก และทำให้เกิดการกระเพื่อม แรงกดดันในทางสังคมต่อรัฐบาล เพราะวันนี้ 314 เสียงของรัฐบาล หากยังมีความสัมพันธ์อันดี การดำเนินงานของพรรคร่วมยังไปกันได้ ก็ไม่มีอะไรที่จะสั่นคลอนได้ นี่คือช่องว่างของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน คือเสียงข้างมากลากไป โหวตอย่างไรรัฐบาลก็ชนะ

แต่วันนี้หากแรงกดดันยังมีไม่มากพอ การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก็อาจทำให้เกิดภาวะเสียของได้ หรือเป็นการใช้โอกาสเปลืองของฝ่ายค้าน บวกกับปัจจัยสถานการณ์ทางการเมือง เพราะวันนี้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังเป็นไปในทางบวก

อีกทั้งสถานการณ์ของพรรคก้าวไกลก็อยู่ในระยะพักตัวสักระยะหนึ่ง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีล้มล้างการปกครอง ตนจึงคิดว่าโอกาสที่จะได้เห็นการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมีไม่มาก ประกอบกับใกล้จะปิดสมัยประชุมสภาในช่วงเดือนเม.ย. รวมถึงเทศกาลวันหยุดด้วย ทำให้ความสนใจในเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองของทุกคนน้อยลง

เมื่อถามว่ามองว่าจะมีปรากฏการณ์ที่ฝากเลี้ยง หรือการซื้อตัวสส.เกิดขึ้นในพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลมีบทเรียนจากปรากฏการณ์ผึ้งแตกรังในสมัยพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เรื่องการเกาะเกี่ยวทางอุดมการณ์ กลไกที่จะเกาะกันเองในพรรคน่าจะมีสูงขึ้น

นายุทธพร กล่าวต่อว่า แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นในการเมืองไทย นอกจากจะมีการเมืองที่เป็นทางการแล้ว ก็มีการเมืองที่ไม่เป็นทางการด้วย ฉะนั้น การใช้การเมืองที่ไม่เป็นทางการในการดูดสส. เพื่อจะทำให้เกิดการย้ายพรรคข้ามขั้ว ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นการพลิกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน