เปิดคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ มติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกฟ้อง “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” กับพวก ชี้ไม่เข้าข่ายกระทำผิดมิชอบ คดีโรดโชว์ 240 ล้าน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 มี.ค.2567 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีการอ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ อม.2/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6

คดีนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2555 โจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อเดือนส.ค.2556 ถึงวันที่ 12 มี.ค.2557 จำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเสนอโครงการ โรดโชว์ ที่มิใช่กรณีเร่งด่วน โดยจำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านเรื่อง แล้วจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้ดุลพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง โดยเจตนาร่วมกันกำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ

โดยจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 เพื่อขออนุมัติจัดจ้างการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ ครม. มีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด ทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขอันจะได้รับการยกเว้น

เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 239,700,000บาท โดยจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12, 13

ลงโทษจำเลยที่ 4-6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 86 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 12, 13 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 กับนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.211 /2560 ของศาลนี้

โจทก์ยื่นฟ้องกรณีไม่ปรากฏตัวจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้สั่งไม่ประทับรับฟ้อง








Advertisement

องค์คณะผู้พิพากษา มีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดซื้อโดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 โดยเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่ประทับรับฟ้องดังกล่าว

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยองค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้การปฏิเสธ

ศาลไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2566 นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันที่ 7 ธ.ค.2566 คู่ความขอแถลงปิดคดีภายใน 60 วัน

ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1-3 ดำเนินการนำงบกลาง 40,000,000 บาท มาจัดทำโครงการโรดโชว์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมของประเทศ และโครงการโรดโชว์ เป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภาเท่านั้นตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยถึงดุลพินิจของฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายดังกล่าว

แต่การใช้งบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ย่อมต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและมติครม.ที่เกี่ยวข้อง สำหรับคดีนี้ มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจตรวจสอบขั้นตอนปฏิบัติว่า จำเลยที่ 1-3 ได้ดำเนินการใดที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว อันถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริตหรือไม่

พยานหลักฐานได้ความว่า กำหนดเวลาเริ่มดำเนินโครงการโรดโชว์ เกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมิใช่เป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 เอง และมิได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อให้เป็นเหตุอ้างใช้งบกลาง เมื่อกรณีไม่อาจใช้ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 และงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2557 มาดำเนินโครงการโรดโชว์ได้ตามที่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำในกรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องใช้จ่ายงบประมาณ

ขณะที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติงบกลางเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2556 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นยุติว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ….ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานฝ่ายบริหารและผ่านมติครม.โดยไม่มีข้อทักท้วง ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่า เห็นสมควรที่นายกฯ จะอนุมัติงบกลางนี้ได้

กรณีย่อมมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถอนุมัติได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ดุลพินิจกระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูล และข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ว่าร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ตราขึ้นมาโดยไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยถึงความชอบของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเท่านั้น ทั้งยังเป็นการวินิจฉัยภายหลังเกิดเหตุโดยมิได้วินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญา ซึ่งต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดีนี้

เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นผลว่าโครงการโรดโชว์ ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แม้โครงการโรดโชว์จะดำเนินการในพื้นที่เดียวกันกับโครงการกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่ 2 จังหวัดแรก ทั้งโครงการโรดโชว์มีภารกิจครอบคลุมมากกว่า ถือไม่ได้ว่าเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน

สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วม หรือแนะนำโดยมิชอบเพื่อให้จำเลยที่ 1 อนุมัติงบกลางอย่างไร จำเลยที่ 2 จึงเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่พิจารณาแล้วผ่านเรื่องเสนอไปยังจำเลยที่ 1 ตามลำดับชั้นเท่านั้น

ส่วนจำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าต้องขอใช้งบกลางจากการเสนอตามลำดับชั้นของข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามหน้าที่เท่านั้น

การที่จำเลยที่ 2-3 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง และจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง 40,000,000 บาท มาดำเนินการโครงการโรดโชว์ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4-5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการโรดโชว์ ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มการจัดจ้างหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำโครงการโรดโชว์ จึงเป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้แก้ไขรูปแบบของงาน

จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ริเริ่มให้จำเลยที่ 4-5 เข้ามานำเสนองาน ไม่ปรากฏว่ารูปแบบงานได้กำหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะอย่างใดที่เอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4-5 โดยเฉพาะเจาะจง หรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวก และจำเลยที่ 1 เป็นประธานแถลงข่าวงานโครงการโรดโชว์ โดยมีพนักงานของจำเลยที่ 4-5 ที่ช่วยประสานงานกับสื่อมวลชน

รวมทั้งจำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกแบบรูปแบบในการจัดงานแถลงข่าวและโลโก้สร้าง อนาคตไทย 2020 นั้น ก็มิใช่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจหรือให้การรับรองการดำเนินการ ทั้งเป็นรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงาน จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะทราบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด

สำหรับจำเลยที่ 2 มิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการโรดโชว์โดยตรง ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ปรากฏว่าแนวทางการสรรหาเอกชนมาดำเนินการโครงการโรดโชว์ เป็นข้อสรุปร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ โครงการของกระทรวงคมนาคมก็เคยจ้างเอกชนมาดำเนินโครงการ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ

การที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้จำเลยที่ 4-5 ไปรวบรวมผลงานในอดีตมาเสนอ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบตรวจสอบก่อนเสนอต่อที่ประชุม ทั้งการที่จำเลยที่ 4-5 ก็จัดทำรูปแบบของงานมาเสนอต่อที่ประชุม เป็นการกระทำโดยเปิดเผยแก่บุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก โดยจำเลยที่ 3 มิได้กระทำการอันใดในลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือจูงใจหรือให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีบุคคลใดสั่งการให้เลือกจำเลยที่ 4-5 เป็นผู้รับจ้าง

พยานหลักฐานทางไต่สวนจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1-3 กำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1-3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัด
จ้างโครงการโรดโชว์ โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000 บาทก่อน สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เป็นการเสนอของเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้นโครงการโรดโชว์ กำหนดเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2556 และจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคา ทั้งหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เกษียณข้อความรับรองว่าตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ

กรณีมีเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 24 (3) เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติภายในวันเดียว ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

กรณีจึงมีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริต จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกฯ

สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ แต่เป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยที่ 3 จึงต้องเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณา

ดังนี้ การที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย จึงมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางนำข้อเสนอราคาของจำเลยที่ 4 มาใช้กำหนดราคากลางนั้นเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตหรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างแต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4-5 ไว้ก่อน

ประการสำคัญที่สุด หลังเกิดเหตุรัฐประหาร เลขาธิการนายกฯ ก็มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวก็เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการโรดโชว์ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จึงอนุมัติเบิกจ่ายเงิน สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนโครงการโรดโชว์ อีก 10 จังหวัด วงเงิน 200,000,000 บาท ก็ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้
วิธีการประกวดราคาได้ กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าการจัดจ้างโครงการโรดโชว์ อีก 10 จังหวัด เข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 24 (3) เช่นกัน

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันดำเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับเงินประจำงวด โดยไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 (ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ) หรือไม่ เห็นว่า ที่มาของการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เกิดจากการกระทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของจำเลยที่ 3 เอง

แต่การที่จำเลยที่ 3 ต้องเสนอจำเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการครม. เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เกิดจากความจำเป็นต้องปฏิบัติไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง มีหนังสือแจ้ง และด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 จำเป็นต้องมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี การกระทำของจำเลยที่ 2-3 ในขั้นตอนนี้ จึงมิได้เป็นการกระทำโดยมิชอบ

ส่วนที่จำเลยที่ 1-2 ร่วมประชุม ครม.และลงมติเมื่อวันที่ 7ม.ค.2557 ด้วย ก็เพราะการอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เป็นดุลพินิจและอำนาจของ ครม.โดยเฉพาะตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 23 วรรคสี่ ไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 1-2 ผิดกฎหมายหรือระเบียบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1-2 ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 4-6 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1-3 ในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1-3 กระทำความผิดดังวินิจฉัยแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำงานนำเสนอ (Presentation) เป็นขั้นตอนก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

จึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4-6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ให้พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า วันนี้ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานกว่า 2 ชั่วโมง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวกรวม 6 คน

นายนิวัฒน์ธำรง ให้สัมภาษณ์หลังรับฟังคำพิพากษา ว่า กระบวนการไต่สวนเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 และเข้าสู่กระบวนการศาลฎีกาตั้งแต่ปี 2565 สำหรับผู้ถูกฟ้องมันได้รับความทรมาน แต่วันนี้ดีใจที่ศาลท่านมีความเมตตาและได้ดูรายละเอียดทั้งหมดจากคำให้การทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจึงส่งผลในการตัดสินวันนี้

เมื่อถามว่าคดีนี้มีการเพิกถอนหมายจับอดีตนายกฯ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ตนรับทราบตอนหลังก็ยังไม่ได้สื่อสารไปหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ และมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีส่วนร่วมเพียงน้อยนิดเพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานในการจัดกิจกรรม

เมื่อถามว่าถือเป็นการล้างมลทินหรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ไม่ได้เรียกว่าล้างมลทิน แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติงานอย่างสุจริตเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่เมื่อมีคนไปฟ้อง ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูล จะนำไปสู่กระบวนการของศาล ตอนนี้ก็ถือว่าโล่งใจเพราะต่อสู้กันมาหลายปี และจากการสอบพยานทางเรามีหลักฐานแน่นว่าไม่มีเรื่องการทำทุจริต และตนก็มั่นใจมาตลอด

ด้านทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ตั้งแต่รับทำคดีนี้ก็มั่นใจในลูกความตนเองว่าไม่มีความผิด และเชื่อมั่นในความสุจริต เพราะดูจากพยานหลักฐานอีกทั้งพยานหลักฐานฝ่ายผู้กล่าวหาเองก็มีข้อบกพร่องเยอะ รวมถึงตนรวบรวมหลักฐานจากทุกศาลมาต่อสู้ จึงมีความเชื่อมั่นตั้งแต่แรกแต่ครั้งนี้ก็ได้รับความเมตตาจากศาล

ด้านนายสุรนันทน์ ได้ขอบคุณตุลาการศาลฎีกาฯ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ผิด ที่ให้ความเป็นธรรมเพราะการไต่สวนนั้นค่อนข้างละเอียด พิจารณาทุกแง่มุมอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย และขอขอบคุณกำลังใจจากทุกคนทั้งที่รู้จักตนและไม่รู้จักตนตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

ตอนนี้ยอมรับว่าสบายใจ และเราปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในขณะนั้น ถือเป็นการยืนยันความถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามีการแถลงข่าวมากมาย มีกระแสข่าว แต่ตนไม่เคยตอบโต้กลับ รอเพียงแค่ศาลตัดสินเท่านั้น และวันนี้ก็ถือเป็นที่ประจักษ์แล้ว

นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและโยบาย เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนเข้าไปร่วมฟัง มองว่าทิศทางการเมืองหลังจากนี้ เมื่ออำนาจของฝ่ายตุลาการหมดไปหลังจากนี้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แม้ว่าจะไม่สามารถใช้อำนาจโดยตรงได้แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบเรื่องของการพักโทษ หรือข้อยกเว้นต่างๆ ทั้งเรื่องการรักษาตัว หรือระเบียบกำหนดพื้นที่อื่นเป็นที่คุมขัง

ตนเชื่อว่าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์นำมาพิจารณา ว่าถึงเวลาที่เหมาะสมในการกลับประเทศไทยแล้วหรือยัง แต่เชื่อว่าเป็นการนับหนึ่งของกลุ่มคนยิ่งลักษณ์ที่จะได้พบตัวจริงอีกครั้ง

ตอนนี้ตนต้องบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์มีคดีอาญาที่ถูกยกฟ้องไปแล้ว 2 คดีทำให้ตอนนี้ไม่มีคดีอาญา ตกค้างอยู่ในศาล มีเพียงโทษจำคุกเพียง 5 ปีซึ่งถือว่าน้อยกว่าพี่ชาย และตนเชื่อว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องมีการวางแผนกัน และตนเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะใช้โมเดลเดียวกับพี่ชายทักษิณกลับสู่ประเทศไทย อย่างจะต้องแสดงเจตจำนงขอกลับมารับโทษที่ประเทศไทยก่อน และจะขอพระราชทานอภัยโทษ

ส่วนหลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการของกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ซึ่งตนมองว่าหลังจากนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถกลับไทยได้โดยอยากจะเลือกกลับสนามบินใดของประเทศไทยก็ทำได้ เพราะเป็นจังหวะดีที่สุดของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ และยังไม่มีการปรับครม.ในเร็วๆนี้ อีกทั้งยังมองว่าปีนี้เป็นปีมหามงคลเชื่อว่าเป็นจังหวะดีที่จะกลับสู่ประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน