“เศรษฐา” โชว์วิชั่น ในเวทีประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ยก 3 ความจำเป็น สร้างความมั่นคงในภูมิภาค มั่นใจ สำเร็จตามยุทธศาสตร์ร่วมกัน

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 6 มี.ค. 2567 (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น เร็วกว่ากรุงเทพฯ 4 ชม.) ที่ Government House Victoria นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Retreat)

ในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ต่อภูมิภาค ประเด็น สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการรับมือ กับปัญหาท้าทายร่วมกัน” (Vision for the Region, Strategic Issues and How ASEAN and Australia Can Work Together to Address Shared Challenges)

โดยนายกฯ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าความมั่นคงในภูมิภาค ภูมิทัศน์ของโลก และการร่วมกันจัดการกับข้อห่วงกังวลร่วมกัน จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ โดยความจำเป็นท้าทายที่สำคัญ คือ 1.จำเป็นต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ เชื่อว่าทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกันคือภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง ยึดตามกฎและครอบคลุม

โดยยินดีที่สหรัฐฯ และจีน ให้ไทยเป็นเวทีสำหรับหารือเพื่อรักษาเสถียรภาพของความสัมพันธ์ นอกจากนี้ต้องเสริมสร้างสถาบันระดับภูมิภาค และพหุภาคี เพื่อส่งเสริมการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น หวังว่าออสเตรเลีย จะสนับสนุนกลไกของอาเซียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของ AUKUS และ Quad

นายเศรษฐา กล่าวว่า อินโดแปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ที่ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับการเดินเรือที่เสรี เปิดกว้าง และเป็นไปตามกฎ จึงยินดีให้ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล และความร่วมมือด้านอื่นภายใต้ the ASEAN Outlook








Advertisement

ในส่วนของตะวันออกกลาง มีความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฉนวนกาซา จึงย้ำข้อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการสู้รบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันที รวมทั้งคนไทย

ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมา เชื่อว่าทางออกที่สันติ มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียวของเมียนมา คือทางออกด้านการเมือง ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยได้ริเริ่มโครงการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของอาเซียน ในการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อ

หวังว่าจะเป็นเส้นทางสู่การเจรจาที่สร้างสรรค์ และเป็นเวทีสำหรับการมีส่วนร่วมของเมียนมากับประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยยินดีที่อาเซียนสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ และหวังว่าออสเตรเลียจะสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ด้วย

2.ความจำเป็นในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องป้องกันเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานด้วยการกระจายตลาดและการลงทุน โดยอาเซียนและออสเตรเลียสามารถเสริมจุดแข็งของกันและกัน เพื่อยกระดับความมั่นคงของมนุษย์โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และความมั่นคงด้านอาหาร

ประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อว่าการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของออสเตรเลียในการเสริมสร้างศักยภาพ และสนับสนุนเครือข่ายของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงผ่านกระบวนการบาหลี มีความจำเป็นอย่างมาก

3.ความจำเป็นในความร่วมมือเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นความท้าทายที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน เราต้องพยายามเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มากขึ้น มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำ และเป็นศูนย์กลางของรถยนต์ไฟฟ้า

โดยไทยได้เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน มีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ภายในปี 2040 รวมทั้งออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน และได้ระดมทุนไปแล้ว 12.5 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด และ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความท้าทายเร่งด่วนอีกประการ คือ ปัญหา PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน โดยไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action: CLEAR Sky) ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน ที่หวังว่าจะได้ร่วมมือออสเตรเลียในด้านนี้

“ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นหุ้นส่วน สู่ภูมิภาคที่มีสันติสุข มั่นคง และมีเสถียรภาพ จึงมั่นใจว่าที่ประชุมจะประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่ได้แลกเปลี่ยนกัน” นายเศรษฐา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน