ผู้การแต้ม ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครอง เพิกถอนกฎกระทรวง ‘ยาบ้า 5 เม็ด’ ชี้ขัดรธน. ซัด สธ. อ้างคำสวยหรู ผู้ป่วยคือผู้เสพ

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา

กรณีกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 หรือกฎหมายใหม่ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า การครอบครองยาเสพติดต่ำกว่ากำหนด เช่น ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดหรือยาไอซ์ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม เป็นการครอบครองเพื่อเสพให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วย

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ตนมาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เห็นว่ากฎกระทรวงนี้เป็นผลร้ายต่อประชาชนมากกว่าผลดี เพราะเป็นการเปิดช่องให้เกิดผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากขึ้น และจำนวนคนเสพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ทั้งที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดวางหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ครอบครองยาเสพติดจะต้องได้รับโทษ ส่วนคนเสพก็เข้าสู่กระบวนการบำบัด แต่กฎกระทรวงนี้เปิดช่องให้ผู้ครอบครองยาเสพติด 5 เม็ดเป็นผู้เสพ ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเรียกรับเงินจากผู้กระทำความผิด ครอบครองยาเสพติด ให้สามารถปรับข้อหาสถานหนักให้กลายเป็นสถานเบาได้ เมื่อกฎหมายเปิดช่องเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น ผู้ติดยาเพิ่มมากขึ้น ยาเสพติดถูกนำเข้ามามากขึ้น และส่งผลให้อาชญากรรมเกิดมากขึ้น

ดังนั้น จึงถือว่ากฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้งขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ได้แก่ ประมวลกฎหมายยาเสพติด วันนี้ตนจึงมายื่นหนังสือให้ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบเรื่องนี้ ก่อนพิจารณาส่งศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป








Advertisement

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นอดีตนายตำรวจ การลดอาชญากรรมและปัญหายาเสพติดที่ถูกต้อง คือ ต้องลดจำนวนผู้เสพลง ไม่ใช่เพิ่มจำนวนยาที่ทำให้ถูกกฎหมาย กฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่ประชาชน

เพราะถึงขนาดทำให้เฮโรอีน ซึ่งถือเป็นยาเสพติดร้ายแรงและไม่สามารถบำบัดได้ ต้องมาพิจารณาว่า หากครอบครองไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพนั้น ตนมองว่ายาเสพติดต่อให้เข้าสู่ร่างกายก็ถือว่าเป็นผู้เสพแล้ว จะมากำหนดจำนวนทำไม จึงถือได้ว่ากฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวอีกว่า การที่ให้เหตุผลเพียงแค่ว่า มีกฎกระทรวงฉบับนี้เพื่อลดปริมาณคนล้นคุกนั้น ตนมองว่ายิ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะกลายเป็นการปล่อยให้คนเสพยาหลุดออกมาใช้ชีวิตในสังคม ทำให้อาชญากรรมพุ่งขึ้น ตอนนี้แต่ละสถานีตำรวจต้องควบคุมคนคลุ้มคลั่ง 4-5 รายต่อวัน

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสงสัย คือ ถ้ามีนโยบายนำผู้เสพไปบำบัด แล้วทางรัฐบาลมีข้อมูลตัวเลขหรือไม่ว่า สามารถบำบัดผู้เสพยาเสพติดไปแล้วเท่าไหร่ และศูนย์บำบัดยาเสพติดอยู่ที่ไหน ดังนั้น ตนยืนยันว่าจะต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด และการที่กระทรวงสาธารณสุขใช้คำนิยามว่า “ผู้ป่วยคือผู้เสพ” นั้นเป็นคำพูดที่สวยหรู แต่ความจริงคือมีคนเสพที่ติดเป็นสันดาน ติดเข้าเส้นเลือดแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน