กรณีฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152

วิจารณ์กันว่าไม่น่าสนใจเพราะไม่ต้องโหวต ฝ่ายค้านแค่ทำตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่อง

รัฐบาลเพิ่งทำงาน ยังไม่ได้ใช้งบ ฝ่ายค้านจะมีหมัดเด็ดอะไร

บ้างจับตาพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย จะเอาจริงแค่ไหน

มีมุมสะท้อนจากนักวิชาการที่เกาะติดการเมือง

รายงานพิเศษ

สติธร ธนานิธิโชติ

ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย

สถาบันพระปกเกล้า

การซักฟอกครั้งนี้ผลต่อรัฐบาลคงไม่มีมากเพราะรัฐบาลคงจะตอบเหมือนเดิมว่างบยังไม่ได้ใช้เต็มไม้เต็มมือ จึงเป็นที่มาว่าพรรคก้าวไกลเลือกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ หากเป็นจังหวะที่รัฐบาลทำงานเต็มที่แล้ว ไม่มีข้ออ้างและถ้าผลงานยังอยู่เช่นเดิมแบบนี้ฝ่ายค้านคงซักฟอกแบบลงมติ

การซักฟอกแบบไม่ลงมติครั้งนี้น่าจะเป็นการเปิดแผลเอาไว้ สมัยประชุมหน้าค่อยลงดาบก็ยังทัน เพราะรัฐธรรมนูญให้โอกาสฝ่ายค้านภายใน 1 ปี สามารถอภิปรายแบบไม่ลงมติได้ 1 ครั้ง และอภิปรายแบบลงมติได้ 1 ครั้ง แล้วแต่จะเลือกแบบไหนก่อน

ถือว่าเป็นจังหวะตามรอบมากกว่า จริงๆแล้วรัฐบาลปัจจุบันเปิดอภิปรายเมื่อไรก็มีแผลเมื่อนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย และถ้าลงรายกระทรวงจะเห็นอีกหลายแผล อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเปิดอภิปรายช่วงไหนก็เหมาะสมทุกช่วง

ประเด็นซักฟอกน่าจะเป็นกลุ่มนโยบายที่เป็นเรือธงของรัฐบาล ส่วนเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่น่าจะใช่ประเด็นหลักของพรรคก้าวไกล แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่แน่ สังเกตได้จากคำสัมภาษณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มองเรื่องของการดำเนินคดีของนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พรรคก้าวไกลอาจมีเรื่องการดำเนินคดีการเมือง ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง อาจเรียกร้องเรื่องคนที่ยังถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัวมากกว่า

เรื่องหลักคือเรื่องที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยประกาศช่วงหาเสียง นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และอีกเรื่องคือหลังจากตั้งรัฐบาลได้มาเน้นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ 2 โครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจน

ทั้ง 2 โครงการนี้จะตีกลับไปที่ผู้นำ ในส่วนนโยบายเงินดิจิทัลคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในส่วนซอฟต์พาวเวอร์คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สองคนนี้ถือว่าเป็นใจกลางระดับอำนาจ

การอภิปรายหากฝ่ายค้านไม่ทำอะไรผิดฟอร์ม ดูจากการอภิปรายงบประมาณก็เชื่อว่าประชาชนจะเทมาทางฝ่ายค้าน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยสร้างไทย จะเอาจริงแค่ไหนนั้น พรรคไทยสร้างไทยน่าจะมีคนที่เอาจริงเอาจังเพียง 1 คน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีหลายคนที่ยังเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่อดีต แต่หากเป็นคนที่มีท่าทีจะเข้าร่วมรัฐบาลก็คงเบามือเป็นธรรมดา ทั้ง 2 พรรคน่าจะอารมณ์เดียวกัน มีทั้งคนที่เอาจริงและคนที่เกียร์ว่าง

ส่วนผลสรุปการซักฟอก เป็นการเปิดแผลไว้ก่อน เพียงแต่ถ้าคิดในเชิงยุทธศาสตร์พรรคก้าวไกลไม่อยากทำให้แผลของรัฐบาลมากเกินไป เพราะอาจถูกเอาไปใช้เป็นข้ออ้างปรับครม. เข้าทางรัฐบาล

 พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

 

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

หลักการอภิปรายไม่ว่าจะเป็นแบบลงมติหรือไม่ลงมติมีผลอยู่แล้วไม่มากก็น้อย เนื่องจากเป็นการสื่อสารระหว่างนักการเมืองด้วยกัน รวมถึงประชาชน หากมองในเชิงกฎหมายการอภิปรายแบบไม่ลงมติจะข้มข้นน้อยกว่าการอภิปรายแบบลงมติ

แต่หากมองในข้อเท็จจริงจะเห็นภาพการเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายแบบไหน แทบไม่ต่างกัน เนื่องจากเป็นการเปิดประเด็น ตั้งข้อสังเกตในการโต้แย้งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงกฎหมาย ฝ่ายค้านก็ต้องทำการบ้านว่า รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีปัญหาอะไร

อีกประเด็นที่น่าจับตา คือกระแสข่าวปรับ ครม.ช่วงเม.ย. การอภิปรายอาจมีผลต่อเรื่องนี้ ดังนั้นที่ฝ่ายค้านตั้งประเด็นอาจต้องตัดสินใจใหม่ว่าจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ เพื่อจะเป็นประเด็นปัญหาที่ฝ่ายค้านจะนำไปอภิปรายแบบลงมติ เพราะถือเป็นอาวุธที่มีความเข้มข้นของฝ่ายค้าน

ส่วนสื่อสารกับประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วประชาชนติดตามการประชุมสภามากขึ้น จากเดิมการถ่ายทอดสดอภิปรายแทบไม่มีคนดู จึงมีผลต่อความนิยมทั้งของรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งอาจพิสูจน์ได้เร็วสุดจากการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่กำลังจะถึงนี้

ถามว่าเวลานี้เหมาะสมหรือไม่เมื่อรัฐบาลยังไม่ได้ใช้งบ เรื่องเวลาไม่มีเงื่อนไขตายตัว เป็นเรื่องของดุลพินิจตามรัฐธรรมนูญการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติระบุว่าเปิดขึ้นมาเพื่อซักถามข้อเท็จจริง เสนอแนะปัญหา

ถ้าดูจากข้อเท็จจริงที่รัฐบาลทำงานมากว่า 6 เดือน รวมถึงฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลยังทำงานได้ไม่นานจึงขอใช้มาตรการนี้เพื่อซักถามประเด็น รวมถึงให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อ

ถ้าสุดท้ายเคยแนะนำ เคยเตือนแล้วแต่ยังคงทำแบบนั้นอยู่ ก่อให้เกิดความเสียหายก็จะนำไปสู่มาตรการที่แรงมากขึ้นคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ การอธิบายจึงทำได้

การตั้งกระทู้เป็นมาตรการหนึ่งที่ทำได้ตลอด เป็นการถามก่อนเข้าประชุมใหญ่ แต่การอภิปรายต่างกันตรงเวลา ในการตอบข้อซักถาม ถ้าเป็นการตอบกระทู้กำหนดเป็นนาที ถ้าเป็นการอภิปรายทั่วไปจะให้โควตาของฝ่ายค้านเป็นชั่วโมง

แน่นอนว่าการตรวจสอบมีความเข้มข้นต่างกัน เป็นคนละเรื่องกับการตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายจะโฟกัส และเจาะลึกมากกว่า

ส่วนหมัดเด็ดของฝ่ายค้านแบ่งเป็น 3 เรื่องใหญ่ คือเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องที่หนีไม่พ้นคือเรื่องของนายทักษิณ กระบวนการยุติธรรม รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ภาพรัฐบาลยังอยู่ในสภาวะฝุ่นตลบ 6 เดือนไม่นาน เป็นการสร้างรัฐบาลชุดใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาอีกหน่อย ยังเป็นช่วงข้าวใหม่ปลามัน จะแบ่งเป็นกลุ่มก้อนหรือไม่ ต้องไปวัดกันที่การอภิปราย ถ้าจะเอาแบบสุดๆ ต้องเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ

รายงานพิเศษ

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การซักฟอกตามมาตราดังกล่าวคิดว่าไม่ส่งผลอะไรกับทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล เพราะก่อนหน้าเปิดซักฟอก สว.ก็จะเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 วันที่ 25 มี.ค.นี้ เหมือนกัน ฝ่ายค้านคงต้องไปทำการบ้านว่าจะทำอย่างไรให้น่าสนใจกว่า สว.

เชื่อว่าการยื่นซักฟอกครั้งนี้ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวของฝากฝั่งรัฐบาล น่าจะยังคงเป็นชุดทำงานเดิมฝ่ายค้านเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เหมือนเป็นการทำตามหน้าที่ให้ได้ชื่อว่าทำแล้ว

การซักฟอกแบบไม่ลงมติไม่มีผลหรือหวังผลอะไรได้อยู่แล้ว เป็นลักษณะเหมือนตั้งกระทู้ถาม เมื่อไม่มีการโหวตก็ไม่ต้องไปลุ้นว่า สส.คนไหนจะเป็นงูเห่า หรือรัฐมนตรีคนไหนจะโดนบ้าง

ส่วนประเด็นไม่ทราบชัดเจนว่าฝ่ายค้านจะซักฟอกเรื่องอะไรบ้าง ที่ฟังจากการแถลงข่าวของฝ่ายค้าน นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทราบเบื้องต้นคงเป็นการทำงานของรัฐบาล 6 เดือน ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หรือไม่ตรงปก

และตามที่นายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุจะซักฟอกรัฐบาลกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม นั้น ก็คิดว่ารัฐบาลน่าจะแก้ตัวได้

เพราะเป็นพระบรมราชโองการที่เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี เพื่อจะได้ใช้ความรู้ ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ รับสนองพระบรมราชโองการ จึงคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลน่าจะตอบง่าย

ส่วนโครงการกู้เงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน ไม่แน่ใจว่าจะถึงขั้นทำไม่ได้หรือไม่ เพราะสภาพัฒน์ รวมทั้ง ป.ป.ช. ที่ออกข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต แต่สิ่งที่ประชาชนติดตามคือเชื่อว่ารัฐบาลพยายามจะทำ รัฐบาลเองก็น่าจะมีคำตอบให้อยู่แล้ว

บรรดาพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูกจับตามองว่าจะทำเต็มที่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา สส.หลายคนก็แอบยกมือสวนมติพรรค จึงเป็นประเด็นถกเถียงที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ราคาตกอยู่ในตอนนี้ ก็ต้องดูว่าจะทำเต็มตัวหรือไม่

หรือพรรคไทยสร้างไทย คนที่มีบทบาทเคลื่อนไหวของพรรคอย่าง นายศิธา ทิวารี ก็ไม่ได้นั่งในสภา ต้องดูว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร แต่พรรคที่ต้องรับผิดชอบมากสุดคือ พรรคก้าวไกล เมื่อทำแล้วประชาชนฟังแล้วจะพึงพอใจหรือไม่

แต่ไม่ว่าฝ่ายค้านจะซักฟอกเรื่องอะไร เมื่อไม่มีการลงมติสุดท้ายก็ไม่มีผลอะไร เหมือนถกกันไปมา เพราะเรื่องต่างๆ ฝ่ายค้านหยิบยกมาเป็นประเด็นมีการแถลงข่าวอย่างต่อเนื่อง

อาจทำให้ความสนใจของประชาชนลดน้อยลงไปด้วย การซักฟอกครั้งนี้จึงเหมือนการสรุปเรื่องที่ผ่านมาเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน