เป็นประเด็นร้อนที่สังคมจับจ้องและเกาะติด ต่อกรณีกกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล

เนื่องจากการหาเสียงชูนโยบายแก้ไข มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

นักวิชาการประเมินโอกาสรอด ไม่รอด ของพรรคก้าวไกลทั้งในแง่การเมือง และข้อกฎหมาย

สติธร ธนานิธิโชติ

ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย

สถาบันพระปกเกล้า

รายงานพิเศษ - ประเมินโอกาส‘ยุบ-ไม่ยุบ’ก้าวไกล

 

หากคาดการณ์ตามปกติก็น่าจะยุบ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนวินิจฉัยตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกัน

เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นเหมือนช่วงที่ผ่านมา ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาพูดว่าเรื่องไม่เบ็ดเสร็จง่ายดายขนาดนั้น คล้ายกับว่าเป็นความผิดที่ทุกคนเพิ่งรู้ หลังศาลมีคำวินิจฉัย หมายความว่าสิ่งที่เขาทำไป ทำไปโดยไม่รู้ว่านั่นคือการล้มล้างแปลว่าขาดเจตนา

โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะไม่ถูกยุบก็มีเช่นกัน เพราะหากยุบแล้วมีความรู้สึกไม่พอใจมากต้องออกมาแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่คือการเมืองแบบนอกระบบ

อีกส่วนคือการยุบพรรคก้าวไกลอาจส่งโมเมนตัมไปสู่การเลือกตั้งอื่นๆ เช่น สว. และการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะส่งผลให้ประชาชนเห็นอกเห็นใจเทคะแนนให้พรรคก้าวไกล

ส่วนหากยุบพรรคแล้ว 44 สส.ที่ถูกป.ป.ช.สอบจริยธรรม ต้องหลุดเก้าอี้ด้วยหรือไม่ เรื่องดังกล่าวจะพ่วงกันไป สมมติหากป.ป.ช.ไม่รอศาลรัฐธรรมนูญว่าจะคิดอย่างไรกับคดียุบพรรคก้าวไกล ก็จะมีเพียง คำวินิจฉัยเรื่องมาตรา 49 เป็นตัวอ้างอิง แล้วไปพิจารณาว่าจากคำวินิจฉัยนี้ การกระทำความผิดของทั้ง 44 สส. เข้าข้อกฎหมายหรือไม่

ขึ้นอยู่ว่าจะเดินเรื่อง 44 สส.ก่อน หรือคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลก่อน หากผลตัดสินยุบพรรคออกมาก่อนจะทำให้ทั้ง 44 สส.ดิ้นยาก ก็จะมีกระบวนการชงให้ในทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนถ้ายุบพรรคก้าวไกลผลกระทบในทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิ์ สส.มีใครที่ถูกตัดสิทธิ์ ใครต้องย้ายพรรค อาจมีกรณีย้ายสังกัดที่ไม่ใช่พรรคตั้งใหม่ของพรรคก้าวไกล

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สส.ที่มีอุดมการณ์แบบพรรคก้าวไกลที่อยู่ในสภาอีก 3 ปีข้างหน้าอ่อนแรงแน่นอนในแง่จำนวนสส. และจะทำให้ฝ่ายค้านเล็กลงแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สมดุลอำนาจทางการเมืองมีความสำคัญ ขณะที่ฝ่ายอำนาจเดิมยังตั้งตัวไม่ติด แล้วยังต้องพึ่งพิงพรรคเพื่อไทยเอาไว้เป็นคู่แข่งพรรคก้าวไกลแบบนี้ ก็ย่อมต้องรักษาความเป็นพรรคการเมืองของก้าวไกลไว้

แต่เพื่อลดทอนกำลังที่ร้อนแรงของพรรคก้าวไกล เป้าหมายที่ตั้งไว้มากกว่าการยุบพรรคคือตัดสิทธิ์คนในพรรค เพื่อให้พรรคยังอยู่แต่ความเข้มแข็งที่จะมีผู้นำมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้จะลดลง

มุนินทร์ พงศาปาน

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

รายงานพิเศษ - ประเมินโอกาส‘ยุบ-ไม่ยุบ’ก้าวไกล

การยุบพรรคก้าวไกลในทางกฎหมายถือเป็นกระบวนการภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ไม่ได้หมายความว่าผลทางกฎหมายตามมาตรานั้นจะนำไปสู่การยุบพรรค ภายใต้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ได้โดยอัตโนมัติ

เพราะพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ในส่วนการยุบพรรค เป็นกระบวนการทางกฎหมายอีกแบบหนึ่ง ถึงแม้ถ้อยคำจะคล้ายคลึงกันก็ตาม ในมาตรา 92 จะมีคำว่าล้มล้างการปกครอง แต่เจตนารมณ์และผลทางกฎหมายของ มาตรา 49 และมาตรา 92 มีความต่างกัน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ใช้สำหรับการยับยั้งไม่ให้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ล่วงล้ำเข้าไป และนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ฉะนั้นระดับการพิสูจน์ หรือการพิจารณาต้องการเพียงแค่เชื้อของการกระทำนั้น ก็ถือว่าเข้ามาตรานี้แล้ว

คำว่าเชื้อหมายความว่า สมมติการกระทำที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง ต้องมีหลักฐานการกระทำที่หนักแน่น ถ้าเทียบแล้วต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพบว่ามีเชื้อเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเข้ามาตรานี้แล้ว และศาลสามารถใช้มาตรการตามมาตรา 49 สั่งให้ระงับการกระทำนั้นได้ ไม่ต้องพิสูจน์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

แต่ในพ.ร.ป.พรรคการเมือง โทษคือการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นโทษประหารชีวิตทางการเมือง กระบวนการพิสูจน์ว่าการกระทำใดที่เป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง ต้องพิสูจน์ให้ 100 เปอร์เซ็นต์

เพื่อให้แน่ชัดว่าเป็นการล้มล้างการปกครองจริงๆ ถึงจะเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 92 และจะมีผลคือศาลมีอำนาจยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค

เมื่อสองกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน มีกระบวนการพิสูจน์แตกต่างกัน ระดับความหนักแน่นของพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน การพิจารณายุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องดำเนินกระบวนการตรวจสอบหรือพิสูจน์ที่ชัดเจน แจ่มแจ้งกว่านี้

กระบวนการการยุบพรรคตามมาตรา 92 ศาลต้องให้โอกาสนำเสนอหลักฐาน เป็นเรื่องผิดมากที่บอกว่าศาลตัดสินยุบพรรคไปแล้วตามมาตรา 49 จึงเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 92 ไปด้วยในตัว ซึ่งไม่ใช่ เป็นคนละกฎหมายกัน ผลทางกฎหมายก็ต่างกัน

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอยู่แล้วที่จะยุบพรรคก้าวไกล เพราะไม่เข้ามาตรา 49 ตั้งแต่แรก ถ้าไม่เข้า 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เข้า 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ดังนั้น ความเห็นส่วนตัวพรรคก้าวไกลไม่น่าจะโดนยุบ แต่ในทางการเมืองก็แล้วแต่จะคิด

ถึงที่สุดแล้วหากศาลสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล ในทางกฎหมาย จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของระบบกฎหมายซึ่งมีอยู่น้อยนิดให้น้อยลงไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อเป้าหมายทางการเมือง คนที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรเลยอาจกลายเป็นเหยื่อ

ส่วนผลกระทบทางการเมืองพูดยาก การยุบพรรคก้าวไกลไม่ได้ทำให้อุดมการณ์สิ้นสลาย แต่จะโตขึ้นหรือไม่นั้นไม่รู้ เพราะการเมืองมีหลายปัจจัยเข้ามาประกอบ เช่น ถ้ารัฐบาลนี้ทำงานได้ดีประสบความสำเร็จมาก คนก็อาจนิยมพรรคเพื่อไทยมากกว่า ก็มีโอกาส

ส่วนพรรคก้าวไกล ถ้าคนรู้สึกว่าถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมก็จะเห็นอกเห็นใจ มีแรงจูงใจให้สนับสนุนตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งต่างๆ ที่จะเกิดในช่วงนี้ได้ แต่ในระยะยาวเราไม่รู้

ที่รู้แน่ๆ คือ พรรคก้าวไกลกลายเป็นเรื่องอุดมการณ์ และไม่หายไปไหน ไม่ว่าเป็นพรรคเล็ก หรือพรรคใหญ่กว่าเดิม

ส่วน 44 สส.ที่ถูกตรวจสอบจริยธรรม เรื่องยังอีกนานมาก เรื่องจริยธรรมร้ายแรงต้องไปที่ ป.ป.ช.ก่อน และไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งใช้เวลานานมาก

และอย่าลืม การพิจารณาของศาลฎีกาฯเคร่งครัดเรื่องการพิสูจน์ความผิดตามมาตรฐาน

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

รายงานพิเศษ - ประเมินโอกาส‘ยุบ-ไม่ยุบ’ก้าวไกล

 

ขั้นตอนแรกต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องหรือไม่ หากไม่รับคำร้อง ก็หมายความว่าพรรคก้าวไกลได้อยู่ต่อ ไม่ถูกยุบ

ส่วนกรณีศาลรับคำร้องก็นำไปสู่การไต่สวน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะ กกต.นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองมาตรา 49 มาเป็นหลักฐาน

จากนั้นคำตัดสินจะออกมาใน 2 แนวทาง ประการแรก ยกคำร้อง หรือการยกฟ้อง คือ พรรคก้าวไกลไม่ถูกยุบ หรือ 2.มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และสั่งตัดสิทธิ์กรรมการพรรคก้าวไกล ตรงนี้น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด 99.99%

เนื่องจากฐานความผิดตามมาตรา 92 (1) (2) พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีความผิดเหมือนคดีล้มล้างการปกครอง มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ในแง่ข้อกฎหมายมีความชัดเจน เป็นข้อกฎหมายที่เป็นบทบัญญัติเดียวกัน

ประการที่สอง เป็นเรื่องพฤติการณ์และข้อเท็จจริงในคดีต่างๆ เป็นความชัดเจนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพูดไว้อย่างละเอียดและมีการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นข้อต่อสู้ต่างๆ แทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว

ข้อต่อสู้เดียวที่พรรคก้าวไกลจะสู้ได้ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นภายหลังการกระทำดังกล่าวหรือไม่ แม้คำวินิจฉัยของศาลจะผูกพันทุกองค์กร แต่จะผูกพันเมื่อศาลมีคำวินิจฉัย และเมื่อผูกพันแล้วทางพรรคได้ดำเนินการต่างๆ โดยทันที

เช่น นำนโยบายดังกล่าวออกจากนโยบายหลักของพรรค คือข้อต่อสู้เดียวของพรรคก้าวไกล แต่หากศาลวินิจฉัยว่าความผิดนั้นสำเร็จแล้วก็ต่อสู้ยาก

ทั้งนี้ มาตรา 92 วรรคท้าย เขียนไว้ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน ดังนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องไต่สวน หากศาลไม่ดำเนินการไต่สวนอาจผิดบทบัญญัตินี้ได้ ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

ซึ่งการไต่สวนจะให้คู่ความหรือพรรคก้าวไกล ได้แสดงพยานหลักฐาน หรือมีการโต้แย้งข้อกล่าวหาหรือคำร้องของกกต. ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

กรณีพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค กรรมการบริหารต้องถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด ส่วนกรณี 44 สส. พรรคก้าวไกลที่ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบด้านจริยธรรมนั้น เป็นคนละส่วนกับการยุบพรรค ซึ่งจะเข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องใช้เวลาตรวจสอบ คาดว่าโทษของแต่ละคนคงไม่เท่ากัน

ใน 44 คน มี 5 คน เป็นกรรมการบริหารพรรค และสส. 44 คน มีสส.บัญชีรายชื่อถึง 21 คน ดังนั้น 44 ส.ส จึงจะเป็นส่วนที่กระทบต่อพรรคมากกว่าการยุบพรรค

หากพรรคก้าวไกลโดนยุบการเลือกตั้งระดับชาติอาจส่งผลให้พรรคก้าวไกลหรือพรรคใหม่ที่จัดตั้งขึ้นได้รับความนิยมอันดับ 1 เหมือนเดิม แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็คงไม่ง่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน