ก้าวไกล แนะใช้งบทดรองราชการ แก้ฝุ่น-ไฟป่าภาคเหนือ ชี้ไม่ต้องประกาศภัยพิบัติ ก็ใช้งบได้ทันที มองเกณฑ์ 250 มากเกินไป แซะ‘เศรษฐา’ปั่นจักรยาน บอกอากาศดี ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรทำ

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2567 นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ไม่ประกาศให้ จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินว่า หากดูจากระเบียบ ถ้าประกาศจะได้รับงบประมาณ 20 ล้านบาทในการบริหารจัดการได้ทันที ซึ่งต้องถกเถียงกันว่าหากประกาศแล้ว จะมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวหรือไม่

แต่มีอีกประกาศที่ทุกคนมองข้าม คือ งบประมาณทดรองราชการ ในส่วนยับยั้งภัยพิบัติ สามารถใช้งบได้เลย 10 ล้าน โดยไม่ต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งทุกปีเราเห็นว่าปลายเดือนมี.ค.ถึงกลางเดือนเม.ย. ค่าฝุ่นPM2.5 จะสูงที่สุด ในภาคเหนือ รวมถึงจ.เชียงใหม่ ส่วนนี้ผู้ว่าฯ อนุมัติได้เลย

เมื่อถามว่าควรเป็นภัยพิบัติหรือไม่ เนื่องจากสื่อต่างประเทศเสนอข่าวว่า จ.เชียงใหม่มีมลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกหลายวันติดกัน นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ให้ประกาศพื้นที่ ที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านสาธารณภัยก็ต่อเมื่อให้พื้นที่ มีค่าPM2.5 เกิน 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกิน 24 ชม. ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีจุดไหนเกิน

ต้องตั้งคำถามว่าเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมา สูงเกินไปหรือไม่ เพราะจากข้อมูลในอดีตพื้นที่ที่จะถูกประกาศเป็นภัยพิบัติมีน้อยมาก เมื่อไหร่เราจะยอมรับว่า PM2.5 เป็นภัยพิบัติ และไม่จำเป็นต้องมีค่าถึง 250 เพราะค่ามาตรฐานที่เรากำหนดไว้โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตั้งไว้แค่สาม 37.5 เราควรปรับเกณฑ์ในส่วนนี้” นายภัทรพงษ์กล่าว

นายภัทรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกระทบการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในภาคเหนือ มาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเลี่ยง มาท่องเที่ยวในช่วงนี้ ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะยอมรับหรือไม่

การประกาศภัยพิบัติไม่ได้มีผลต่อการใช้งบเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนด้วย รัฐขาดส่วนนี้อย่างชัดเจน เราต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชนจนไม่มองว่าภาวะฝุ่นควัน เป็น New Normal เพราะปัจจุบันประชาชนเริ่มยอมจำนน ไม่ป้องกันตัวเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิด รวมถึงต้องไม่รณรงค์ ในทางที่ผิดแล้ว

“อย่างเช่นภาพนายกฯ ไปปั่นจักรยานแล้วบอกว่าอากาศดี แม้กระทั่งกินข้าวเอ้าท์ดอร์แล้วบอกว่าอากาศดีจังที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราควรจะทำ” นายภัทรพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าควรจะแก้ไขอย่างไรในระยะสั้นรวมถึงระยะยาว นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า แผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จะมีศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่แต่ละจังหวัดจะมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้รับผิดชอบ

ตรงนี้ต้องชัดเจนว่าในปีนี้เราจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้กลุ่มเปราะบางหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมและรวดเร็ว รวมถึงจะตรวจสอบผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดอย่างไร เพราะรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับปอดให้เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันในจ.เชียงใหม่ทำได้เพียง 17 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนงบประมาณชัดเจนเรื่องไฟป่า ปัจจุบัน พื้นที่ป่าแบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ของอุทยาน แต่พื้นที่ป่าไม้ถูกโอนให้กับท้องถิ่นไปหมดแล้ว แต่ท้องถิ่นไม่มีเงิน งบประมาณที่ขอผ่านกรมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ ชัดเจนว่ามีแต่ภารกิจให้กับท้องถิ่นแต่ไม่มีเงิน ในส่วนนี้เราอาจต้องหาทางเข้าช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับงบประมาณในการแก้ไขปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน