“พริษฐ์” เผยวงประชุม “ก้าวไกล” เตรียมพร้อม ถกร่างพ.ร.บ.งบ-ซักฟอก ยันวางวาระเข้มข้น บี้ “เศรษฐา-ครม.” ให้ความสำคัญ มาตอบสภา

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 19 มี.ค. 2567 ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงวาระการประชุมของสส.พรรคก้าวไกลประจำสัปดาห์นี้ ว่า การประชุมในวันนี้จะเกี่ยวข้องกับวาระการประชุมสภาฯ ซึ่งเหลืออีกเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้นก็จะหมดสมัยการประชุม

โดยประเด็นในสัปดาห์นี้ คือ เรื่องการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 2-3 ในวันที่ 20-22 มี.ค.นี้

ส่วนสัปดาห์ถัดไปจะเป็นวาระของการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 2-3 และในสัปดาห์สุดท้ายจะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งถือว่าเป็น 3 สัปดาห์ที่มีความสำคัญ

สำหรับการอภิปรายงบประมาณฯ นั้น การที่ประชาชนได้เห็นการทำงานของกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 67 และการอภิปรายของสส.ในสภาฯ จะทำให้ประชาชนเห็นชัดขึ้นว่า งบประมาณปี 67 ถูกจัดสรรอย่างสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน ในการแก้ไขวิกฤตต่างๆ ของประเทศ

รวมถึงวาระต่างๆ ที่รัฐบาลอยากจะผลักดัน หากบอกว่าไม่สามารถจัดสรรงบประมาณปี 67 ได้อย่างชัดเจนเพียงพอ ก็ยังสามารถตัดงบที่ไม่จำเป็นออกในชั้นกมธ. และแปรไปสู่งบส่วนอื่นตามโครงการที่รัฐบาลตั้งไว้ได้

ฉะนั้น ตนคิดว่ามี 2 โจทย์ที่อยากเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนจับตาดู คือ 1.งบประมาณปี 67 ยังมีอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ 2.รัฐบาลได้ทำเต็มที่หรือไม่ ในการจัดสรรงบประมาณผ่านกลไกกมธ. เพื่อที่จะทำให้เป็นไปตามหรือสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลมีวาระไว้

เมื่อถามถึงการวางตัวคนในการอภิปรายจะมีความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ความจริงเข้มข้นทุกวาระอยู่แล้ว เพราะโดยเฉลี่ยมีกฎหมายของพรรคก้าวไกลเข้าสู่วาระที่ประชุมสภาเกือบทุกสัปดาห์ ทุกการประชุมจึงมีความสำคัญต่อการทำงานของพรรคก้าวไกล








Advertisement

ส่วนการอภิปรายงบประมาณ และการอภิปรายทั่วไป พรรคก้าวไกลมีกระบวนการให้สส.ที่มีความประสงค์จะอภิปรายมาลงชื่อ แล้วจึงมีการคัดเลือก เพื่อให้มั่นใจว่าจะอภิปรายครอบคลุมทุกประเด็น และไม่ซ้ำซ้อนกันจนเกินไป

เมื่อถามว่าขณะนี้มีสส.ลงชื่อมากน้อยแค่ไหน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของการอภิปรายงบประมาณก็มีการลงชื่อพอสมควร เพราะส่วนใหญ่เป็นสส.ที่ทำงานโดยตรงกับเรื่องนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสส.ที่ทำงานอยู่ในกมธ.งบประมาณฯ หรือ สส.ที่ทำงานอยู่ในอนุกมธ.งบประมาณฯ แต่ก็ยังมีสส.ทั่วไปที่มีความสนใจด้วย

เมื่อถามว่าจะฝากอะไรถึงรัฐบาลในการวางแผนงบประมาณปี 68 บ้างหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คู่ขนานไปกับการที่สส.พรรคก้าวไกล มีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณปี 67 ผ่านชั้นกมธ. ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการคู่ขนาน เพื่อศึกษาการของบประมาณปี 68 ตั้งแต่ต้นน้ำ

เพราะที่ผ่านมา ครั้งแรกที่สภาฯ จะมีโอกาสตรวจสอบงบประมาณ มักจะเป็นหลังจากที่งบประมาณมีการจัดทำมาและเสนอเป็นร่างเข้าสู่สภาเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่นายณัฐพงษ์พยายามทำ คือ การทำให้สส.มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบคำของบประมาณตั้งแต่ต้นทาง

เพื่อจะได้เห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีคำของบประมาณอะไรบ้าง และอาจมีการเสนอแนะไป หากเห็นว่าโครงการไหนดูจะตอบโจทย์หรือไม่ตอบโจทย์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของฝ่ายบริหารว่า ควรอนุมัติคำของบประมาณอะไรบ้าง

เมื่อถามว่าแม้จะมีการทำคู่ขนาน แต่รัฐบาลยังมีการจัดทำงบประมาณแบบเดิม จะมีประโยชน์อะไรหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศตามที่ประชาชนคาดหวังก็จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการในการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้น หากอยากให้ประชาชนหรือสส.เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะรอเพียงแค่ร่างที่เคาะจากฝ่ายบริหารและเสนอเข้าสู่สภาฯ ก็อาจจะไม่ทันต่อการให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ

เมื่อถามถึงประเด็นที่จะใช้ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ มีอะไรบ้าง นายพริษฐ์ กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการคัดเลือก ที่คณะกรรมการจะมีการคัดกรอง ซึ่งเมื่อกำหนดวันแล้วก็พอจะคำนวณได้ว่า พรรคก้าวไกลจะมีเวลาในการอภิปรายเท่าไหร่

จะแบ่งให้ผู้อภิปรายได้กี่คน และครอบคลุมได้กี่ประเด็น ยืนยันว่าครอบคลุมทุกประเด็นแน่นอน รวมถึงนโยบายหลักของรัฐบาลที่ประชาชนคาดหวัง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแบ่งเวลาให้แต่ละพรรคนั้น คงมีการจัดสรรเวลาตามสัดส่วนของสส.ที่แต่ละพรรคได้ เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของการทำงานในสภาอยู่แล้ว

เมื่อถามกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ระบุว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง อาจจะไม่มาตอบการอภิปรายของ สว.นั้น ในส่วนการอภิปรายของสส. มีความคาดหวังต่อการมาตอบของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราคาดหวังให้ทั้งนายกฯ และรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร ให้ความสำคัญกับงานในสภาอยู่แล้ว

“เราอยากให้นายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนให้ความสำคัญกับสภาฯ เราอยู่ในระบบรัฐสภาที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีความเชื่อมโยงกัน ฝ่ายบริหารเข้าสู่ตำแหน่งได้ก็เพราะได้รับการรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ดังนั้น การที่นายกฯ ไม่เพียงแต่มาตอบคำถามในการอภิปราย แต่มาตอบในกระทู้ถามสด กระทู้ทั่วไป หรือแม้กระทั่งให้ความร่วมมือเข้ามาตอบคำถามในชั้นกมธ. จะเป็นประโยชน์ให้สส.สามารถทำงานได้เต็มที่ ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และถามคำถามแทนพี่น้องประชาชน” นายพริษฐ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน