การเดินทางเยือนกัมพูชาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำคนรุ่นใหม่ของพรรค

นอกจากกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 พรรคการเมือง คอการเมืองมองว่ายังมีนัยยะอื่น

โดยเฉพาะการปูทางให้ น.ส.แพทองธาร ก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี และทอดยาวสู่เก้าอี้ผู้นำประเทศ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

การยกคณะไปเยือนกัมพูชาของน.ส.แพทองธารมีนัยยะอย่างแน่นอน เป็นการแสดงนัยยะความเป็นผู้นำของน.ส.แพทองธาร จากก่อนหน้านี้อยู่ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พอตั้งรัฐบาลกระแสของ น.ส.แพทองธารตกลง และมีความพยายามผลักดันให้ น.ส.แพทองธารขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ แต่ก็ไม่เคลื่อน

จึงไม่มีอย่างอื่นที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้น.ส.แพทองธาร ได้ดีกว่าใช้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาผ่าน ฮุนเซน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับนายทักษิณ ชินวัตร อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าหลังฮุนเซนมาเยี่ยมอาการป่วยของนายทักษิณ ก็ประกาศเลยว่าอยากเชิญน.ส.แพทองธารไปเยือนกัมพูชา ทำให้เกิดกระแสขึ้นมา

ที่จริงบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเป็นนายกฯ หรือรมว.ต่างประเทศ แต่ขณะนี้รมว.ต่างประเทศ กลายเป็นผู้ติดตาม

เป็นการสร้างภาพลักษณ์ สร้างมิติใหม่ทางการเมืองให้น.ส.แพทองธารในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อเสริมบารมีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีต่างประเทศ ปูทางสู่การเป็นรัฐมนตรี แต่การก้าวสู่นายกฯ ในที่สุด ยังไม่สามารถประเมินได้

แต่การสร้างภาพลักษณ์จะทำให้พื้นที่ทางการเมือง มีความหมายมากขึ้น หากมีการปรับครม.ช่วงนี้ ผู้คนก็รู้สึกว่ามีภาพลักษณ์ที่ดี มีภาวะผู้นำ เป็นคนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อาจได้รับการตอบรับขึ้นบ้าง

และยังมองว่าเป็นโอกาสในการไปเรียนรู้จากฮุนเซน เรื่องการเปลี่ยนถ่ายอำนาจสู่รุ่น 2 ถ้าดูจากตระกูลชินวัตรไม่มีตัวละครจะมารองรับการถ่ายโอนอำนาจ มีตัวเลือกตัวเดียวคือ น.ส.แพทองธารจึงต้องให้ไปเรียนรู้วิธีการถ่ายโอนหรือการเข้าไปสู่อำนาจ

การไปคุยเรื่องท่องเที่ยว อาจมองได้ว่าเป็นการบริหารงานแบบใหม่ของนายกฯ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปดำเนินการเองทุกเรื่อง แต่ใช้ความสามารถ ใช้ความสัมพันธ์ ใช้ความโดดเด่นส่วนตัวมาช่วยแก้ปัญหา แทนที่จะใช้ความเป็นทางการอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเป็นประโยชน์ ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแบกรับ

อย่างไรก็ตามการไปเยือนกัมพูชาครั้งนี้มีผลเชิงบวกมากกว่า แต่ผลเสียมีแน่นอนสำหรับคนที่ไม่ชอบตระกูลชินวัตร ไม่ชอบรัฐบาลเศรษฐา จะใช้เรื่องนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้าไปหาผลประโยชน์

แต่ส่วนตัวมองเชิงบวก นี่คือลักษณะการบริหารหรือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการอย่างเดียว ใช้จุดแข็งของแต่ละคนมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ก็จะเป็นคุณต่อประเทศในการขับเคลื่อนนโยบาย ตัวผู้นำเองสามารถใช้โอกาสนี้สะสมประสบการณ์ให้ตัวเอง

นันทนา นันทวโรภาส

คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

ความสัมพันธ์ระหว่างฮุนเซน กับ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นสัมพันธ์ที่แนบแน่นยาวนาน การที่ฮุนเซนเดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณ ที่บ้านพักเมื่อวันที่ 21 ก.พ.

และเชิญน.ส.แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเดินทางไปกัมพูชาเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นการสานต่อเรื่องความสัมพันธ์ในระดับครอบครัว ที่เวลานี้ฮุนเซนวางมือและให้ฮุน มาเนต บุตรชาย ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับนายทักษิณที่ไม่ได้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และยังติดคดี ลำดับต่อไปจะเป็น น.ส.แพทองธาร ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค และขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ฉะนั้นเหมือนเป็นการสานสัมพันธ์จากพ่อสู่ลูกของทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกันเป็นการสื่อสารให้เห็นว่าหากนายกฯ คนต่อไปชื่อ น.ส.แพทองธาร ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา จะราบรื่นเพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ถือเป็นการปูทางให้น.ส.แพทองธาร ในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ และความสัมพันธ์นี้น่าจะไม่มีอุปสรรคอะไร

เป็นการกระชับสัมพันธ์ในระดับครอบครัว ซึ่งมีนัยยะไปสู่ระดับประเทศ

ถือเป็นการเสริมบารมี ปูทางสู่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจให้กับ น.ส.แพทองธาร ไปในตัว

การที่น.ส.แพทองธารไปเยือนกัมพูชา แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่แม้จะบอกว่าเป็นในนามหัวหน้าพรรค แต่ย่อมต้องนำไปถูกเปรียบเทียบกับนายเศรษฐา ที่อยู่ในตำแหน่งนายกฯ

การเสริมบทบาทให้น.ส.แพทองธาร ได้แสดงในระดับชาติ และบทบาทในระดับนานาชาติในเบื้องต้นกับกัมพูชา และต่อไปอาจจะได้เห็นเพิ่มมากขึ้นในประเทศอื่น

หากน.ส.แพทองธารจะทำให้การไปเยือนกัมพูชาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย มากกว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระดับครอบครัว ก็ต้องพยายามบอกว่าการไปเยือนกัมพูชาได้เจรจาเรื่องอะไรบ้าง

เช่น พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เรื่องฝุ่นควันที่มีการเผาข้ามแดน รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ข้อสรุปอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนไทยบ้าง

ถ้าเป็นอย่างนี้จะเป็นการไปเยือนที่ไม่ใช่การกระชับสัมพันธ์ในระดับครอบครัว

การเดินทางไปครั้งนี้จะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรต่อรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยนั้น ถ้ามองว่าเป็นการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนกัมพูชาและระหว่างตระกูลฮุนกับตระกูลชินวัตร ก็ไม่เกี่ยวคนไทย

หากไปในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ก็ควรจะให้มีประโยชน์เกิดขึ้นแม้จะยังไม่เกิดในปัจจุบันก็ควรเป็นการปูทางให้เกิดขึ้นในอนาคต

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า

ฮุนเซน เชิญ น.ส.แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกันตั้งแต่รุ่นพ่อจึงมีความเป็นไปได้ว่า จะเข้าไปถ่ายทอดประสบการณ์ ทำให้ น.ส.แพทองธาร และสมาชิกแกนหลักของพรรคเพื่อไทยที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไปเรียนรู้กลยุทธ์กลวิธีการเมืองของพรรคประชาชนกัมพูชา

เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทยในอนาคตต่อไป ทั้งในแง่ของการเอาชนะการเลือกตั้ง การจัดการกับฝ่ายค้าน การครองอำนาจอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จอย่างเช่น พรรคประชาชนกัมพูชา

อีกทั้งเป็นความพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ น.ส.แพทองธาร ในเวทีต่างประเทศและในทางสากล เพราะถือเป็นหัวหน้าพรรคที่ได้รับเชิญจากผู้ทรงอำนาจในกัมพูชา ในขณะเดียวกันก็ได้เข้าพบแกนหลักที่ครองอำนาจในกัมพูชาเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา รวมถึงบุคคลสำคัญอื่นๆ

ซึ่งตามจริงเป็นหัวหน้าพรรคก็อาจพบกันแค่หัวหน้าพรรค อีกทั้ง น.ส.แพทองธารไม่ได้มีตำแหน่งอะไร จึงถือเป็นการพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้น.ส.แพทองธารเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล และได้รับการยอมรับจากเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่น

ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีความร่วมมือกันหรือระหว่างตัวรัฐบาลเพื่อไทยกับรัฐบาลกัมพูชาในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ทั้งเรื่องก๊าซ น้ำมัน

ผลดีคือได้เรียนรู้กลวิธี กลยุทธ์การบริหารพรรคการเมืองจากกัมพูชาในการควบคุมคู่แข่ง แต่ก็มีผลเสียคือไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ ดีไม่ดีอาจเสียคะแนนนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น

เพราะประเทศกัมพูชาในสายตาของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเป็นรัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยม และไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไร แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย กำจัดฝ่ายค้าน ด้วยวิธีการทางกฎหมาย กระทั่งฝ่ายค้านติดคุกบ้าง ลี้ภัยไปบ้าง

ย่อมมีคนสงสัยและตั้งคำถามพรรคเพื่อไทย โดยน.ส.แพทองธารจะนำเอาวิธีการเหล่านี้มาใช้กับประเทศไทยหรือไม่ เรื่องนี้ก็จะเป็นผลเสียต่อน.ส.แพทองธารเองและพรรคเพื่อไทยด้วย

แต่แน่นอนการเรียนรู้จากกัมพูชาเป็นหนึ่งในกระบวนการปูทางสู่การเป็นรัฐมนตรี และก้าวสู่เป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าดำเนินการตามแบบแผนของกัมพูชา น.ส.แพทองธารก็ต้องเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก่อน เมื่อมีประสบการณ์แล้วจะได้มีความมั่นใจมากขึ้นเวลาต้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน