สว.สุรเดช แนะ เศรษฐา ฟังความเห็นโครงการ แลนด์บริดจ์ รอบด้าน เสนอ 5 ข้อ พัฒนาคมนาคม ชง สร้างท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต หวังเป็น ‘Home Port’ รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา พิจารณาการอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

เวลา 13.00 น. นายสุรเดช จิรัติเจริญ สว. อภิปรายถึงปัญหาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่า ขอชื่นชมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่มีแนวคิดดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้ว

โดยมีความมุ่งมั่นเพื่อจะลดระยะค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ และร่นระยะเวลาเดินทางที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา โดยชักชวนต่างชาติให้ร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์

ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอแนะว่า 1.การจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีท่าเรือผ่านช่องแคบมะละกา เรามีจุดแข็งอะไร ทำเวลาได้ดีกว่าหรือไม่ 2.ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าหรือไม่ 3.การสร้างอุตสาหกรรมหลังท่า แม้เราจะมีโครงการอีอีซี แต่กลับยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และเราจะมีศักยภาพมากพอที่จะทำได้หรือไม่

ความเหมาะสมของท่าเรือน้ำลึก โดยใน จ.ชุมพร ไม่มีเกาะบังคลื่นบังลม อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ การที่เราจะสร้างท่าเรือสำหรับขนถ่ายสินค้านั้น เรามีชุมทางคล้ายชุมทางตลาดไทที่พร้อมจะแข่งขันกับประเทศอื่นหรือไม่

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า การที่นายกฯ เดินทางนำเสนอโรดโชว์ในต่างประเทศ ไม่ทราบว่าต่างประเทศได้ตอบรับโครงการแลนด์บริดจ์อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ที่รัฐบาลได้ถามกระทรวงคมนาคมและที่ปรึกษาออกแบบโครงการนี้ ได้สอบถามนักวิชาการภาคอื่นๆ ถึงความเหมาะสมหรือไม่

รวมถึงได้สอบถามผู้ประกอบการเดินเรือว่าเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวหรือไม่ ช่องแคบมะละกาคับแคบตามที่กระทรวงคมนาคมกล่าวจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน หลายประเทศเพื่อนบ้านที่มีท่าเรือ ก็คงมีการปรับปรุงท่าเรือเพื่อรองรับจำนวนเรือขนถ่ายสินค้า

นายสุรเดช กล่าวว่า นอกจากโครงการเมกะโปรเจกต์ที่รัฐบาลจะส่งเสริมแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำแค่โครงการแลนด์บริดจ์อย่างเดียว มีอีกหลายโครงการที่จะทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้า โดยตนมีข้อเสนอการส่งเสริมการคมนาคม 5 เรื่อง

1.ระบบขนส่งทางราง เดิมทีเรามีโครงการเดินทางและขนส่งเส้นทางสิงคโปร์-คุนหมิง ซึ่งเราไม่ชำนาญด้านการเดินเรือ แต่เรามีจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเชื่อมต่อตั้งแต่สิงคโปร์ตามแนวไปจนถึงคุนหมิง และเชื่อมต่อไปยุโรปได้ แต่อาจต้องมีการปรับปรุงรางรถไฟบริเวณด่านปาดังเบซาร์ไปยังหาดใหญ่ จากรางเดี่ยวเป็นรางคู่ เพื่อขนถ่ายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการเส้นทางรถไฟจีน-ลาว สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2564 แต่ไทยยังไม่มีการสร้าง ทำให้รถไฟขนถ่ายสินค้าและสำหรับเดินทาง ไม่สามารถข้ามมาไทยได้ ทำให้ไทยเสียโอกาสตรงนี้ จึงควรเร่งหยิบยกเส้นทางสายที่ 3 หนองคาย-เวียงจันทน์โดยเร็ว

2.ส่งเสริมเอกชนในการขนส่งทางรถไฟ รัฐบาลลงทุนรถไฟรางคู่หลายแสนล้าน แต่กลับมีการขนถ่ายสินค้าทางรถไฟเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากระเบียบการดำเนินการขนส่งต้องเป็นของรถไฟเท่านั้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ควรแก้ไขให้เอกชนมีสิทธิในการดำเนินการตรงนี้ โดยที่การรถไฟคิดแค่ค่าผ่านทาง

3.แผนพัฒนาท่าอากาศยาน ที่นายกฯ ระบุว่า ปัจจุบันเรามีผู้โดยสาร 40-50 ล้านคนต่อปี และสามารถเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปีได้ ถ้าเราสร้างอาคารผู้โดยสารอีกหนึ่งหลัง และสร้างรันเวย์ที่ 4 เพิ่มขึ้น จะทำให้มีผู้โดยสารกว่า 150 ล้านคนต่อปี

4.แผนพัฒนาการขนส่งทางเรือ อยากให้รัฐบาลพัฒนาท่าเรือภูเก็ตให้สามารถต่อยอดเป็นท่าเรือน้ำลึกจาก 9 เมตร เป็น 15 เมตร เพื่อให้เรือสำราญขนาดใหญ่สามารถจอดเทียบท่าได้ เนื่องจากท่าเรือภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก หากทำได้จะทำให้ภูเก็ตเป็นท่าเรือ ‘Home Port’ ซึ่งตรงนี้ใช้งบประมาณไม่มาก

5.แผนพัฒนาการขนส่งทางบก คือ โครงการ ASEAN Drive Tourism ระหว่าง ไทย ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเห็นว่าควรเพิ่มประเทศจีนเข้าไปด้วย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไข คือ กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เช่น กฎระเบียบระยะเวลาในการใช้รถ การนำเข้ารถ และใบอนุญาตการใช้รถ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน