ก้าวไกล ค้าน ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท 10 จังหวัดท่องเที่ยว ถามลั่นใช้สูตรไหนคำนวณ ซัดเหมือนศรีธนญชัย ชง เพิ่มค่าแรง 450 บาท ทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ แถลงคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10 จังหวัด ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 67

โดยนายเซีย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เฉพาะกิจการโรงแรมบางพื้นที่ ซึ่งเป็นการปรับค่าจ้างแบบศรีธนญชัย ยืนยันว่าเห็นด้วยกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างให้เท่ากันในทุกอุตสาหกรรมทั่วประเทศ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทแค่บางพื้นที่ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง

การอ้างว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวม และ 10 พื้นที่มีรายได้สูง จึงเป็นพื้นที่นำร่อง แล้วกิจการประเภทอื่นไม่สำคัญหรือ

ดังนั้น การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ อาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในอนาคต ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ที่มีค่าตอบแทนสูง เป็นผลให้มีแรงงานกระจุกตัวในพื้นที่ไม่กี่แห่ง ไม่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

นายเซีย กล่าวว่า ฝากข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน พิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างใหม่ ดังนี้ 1.ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรมตามหลักสากล ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน โดยปรับจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่การปรับเป็นอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต เพื่อให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

2.เป้าหมายค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาททั่วประเทศ ตามที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเคยให้คำมั่นในการหาเสียงเลือกตั้ง ขอเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างฯ ปรับเปลี่ยนสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ เพราะเมื่อนำข้อมูลมาคำนวณตามสูตรที่ใช้กันอยู่ รัฐบาลนี้หากอยู่ครบ 4 ปี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึง 600 บาท ในปี 2570 แน่นอน

นายเซีย กล่าวว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท ควบคู่กับการเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชนทุกช่วงวัย และต้องปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มทุกปี ในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์

นายเซีย กล่าวต่อว่า และเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรมทั่วประเทศ ขอให้พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ให้เป็นธรรมเท่ากันทั่วประเทศ

เมื่อถามว่ากระทรวงแรงงานระบุว่า ไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศได้ เพราะคำนวณจากอัตราการเติบโตรายได้ และ GDP แต่ละจังหวัด นายเซีย กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมี 100 เหตุผลที่จะให้ข้อมูล แต่อยากให้มองถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงาน

ทั้งนี้ สูตรคำนวณค่าแรงของพรรคก้าวไกล ดูจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ เมื่อโตขึ้น แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานมีปัญหาในการใช้ชีวิต มีหนี้สินเพิ่มทุกปี ส่งผลกระทบโดยรวมต่อประเทศ

“ตั้งแต่ผมอยู่ในกระบวนการแรงงานมา ยังไม่เคยเห็นการขึ้นค่าแรงที่แปลกประหลาดแบบนี้ ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า กระทรวงแรงงานทำงานแบบไหน ทำงานแบบศรีธนญชัยหรือไม่” นายเซีย กล่าว

ด้าน นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันว่า เป็นวิธีคิดที่ผิดหลักเศรษฐศาสตร์อย่างรุนแรง ทำให้การคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำมีปัญหา และน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยที่ผ่านมา สำนักงานค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการคำนวณสูตรค่าแรงแบบใหม่ แต่ผลที่ออกมากลับไม่ต่างจากเดิม

“การขึ้นค่าจ้าง 10 จังหวัด ใช้สูตรคำนวณแบบใด เพราะสูตรที่กระทรวงแรงงานใช้อยู่ ไม่สามารถขึ้นได้ถึง 400 บาท ต้องเอาให้ชัดว่า การกำหนดค่าจ้าง อยู่ที่รมว.แรงงาน หรือคณะกรรมการไตรภาคี” นายสหัสวัต กล่าว

เมื่อถามถึงนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 อาจต้องทำเป็นขั้นบันไดหรือไม่ นายเซีย กล่าวว่า ต้องถามพรรคเพื่อไทยว่าต้องปรับอย่างไร แต่ในส่วนพรรคก้าวไกลจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันก่อน รวมถึงปรับเพิ่มสวัสดิการของแรงงานทุกช่วงวัย

นายเซีย กล่าวเสริมว่า การประชุมคณะกรรมการไตรภาคีของกระทรวงแรงงาน ถูกตั้งคำถามว่ามีการเมืองแทรกแซง จึงขอฝากไปถึงรัฐบาลและรมว.แรงงานว่า รัฐบาลกำลังเล่นละครตบตาผู้ใช้แรงงานหรือไม่ จากการประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 2-16 บาทต่อวัน แต่นายกรัฐมนตรี ระบุ 2 บาท ซื้อไข่ยังไม่ได้ และขอให้มีการทบทวนค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง

นายเซีย กล่าวต่อว่า ซึ่งนายกฯ ก็ไม่เคยผลักดันให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน และไม่เคยพูดถึงอีกเลย ตนคิดว่านี่คือแนวนโยบายของรัฐบาลที่เคยสัญญากับผู้ใช้แรงงานไว้ว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการไตรภาคีก็เป็นส่วนสำคัญ แต่หากกระทรวงแรงงานไม่สนองนโยบายของรัฐบาลก็ไม่สามารถผลักดัน และบริหารประเทศให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน