ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถกญัตติส่งศาลรธน. วินิจฉัย รัฐสภามีอำนาจบรรจุวาระแก้รธน.ฉบับใหม่หรือไม่ ‘พริษฐ์’ หนักใจยื่นดาบให้ 9 ตุลาการชี้ขาด

เมื่อเวลา 12.40 น. วันที่ 29 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

นายชูศักดิ์ กล่าวเปิดเสนอญัตติว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ แจ้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ตนและคณะเป็นผู้เสนอ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุเป็นวาระการประชุมรัฐสภาได้นั้น เท่ากับประธานรัฐสภาเห็นว่ารัฐสภาไม่มีหน้าที่พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม แต่ตนเห็นว่าเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญ 2560 (2) และการเสนอญัตติเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 แล้ว จึงชอบที่ประธานจะบรรจุเป็นระเบียบวาระ

ดังนั้น ตนจึงขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลประชามติ ได้หรือไม่

หากรัฐสภาสามารถบรรจุร่างได้แล้ว การจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 โดยสอบถามไปพร้อมกับกรณีมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ หากไม่ได้จะต้องสอบถามในขั้นตอนใด

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็น โดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รู้สึกหนักใจที่รัฐสภาต้องมานั่งพิจารณาให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพราะทุกครั้งที่รัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การยื่นดาบให้แก่ตุลาการ 9 คนที่แต่งตั้งโดยกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่ไม่อยากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้กลุ่มคนดังกล่าวชี้ขาดรัฐสภาว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักไม่เป็นคุณต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่ที่หนักใจกว่านั้น ถ้าเกิดรัฐสภาเดินตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด จะไม่ต้องใช้เวลาหรือกำลังพิจารณาญัตตินี้ตั้งแต่ต้น หากประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคเพื่อไทย และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล เข้าไปไว้ด้วยกัน เพราะจะทำให้เรานำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการทำประชามติ 2 ครั้ง

แต่เข้าใจดีว่าประธานรัฐสภาอาจตีความคำว่า “เสียก่อน” ต่างกัน ทำให้เข้าใจว่าต้องทำประชามติเสียก่อน 1 ครั้ง จึงจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

นายพริษฐ์ อภิปรายต่อว่า ดังนั้น หากสงสัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เราสามารถไปดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการได้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานรัฐสภา เมื่อตนศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนแล้ว จะเห็นชัดว่าตุลาการมีความเห็นอย่างไร

หากจะยึดตามความเข้าใจและข้อมูลของตน มี 5 ตุลาการบอกว่าประธานรัฐสภาบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระได้ และมี 2 ตุลาการวินิจฉัยคล้ายคำวินิจฉัยกลาง อีก 1 ตุลาการชัดเจนว่าบรรจุเป็นระเบียบไม่ได้จนกว่าจะทำประชามติ และอีก 1 ตุลาการชัดเจนว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ฉะนั้น พออนุมานได้ว่าคำวินิจฉัยกลาง เปรียบเสมือนการสรุปรวบยอดบอกกับเราว่า ประธานรัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยเป็นระเบียบวาระได้ และเชื่อว่าถ้ารัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการที่เคยวินิจฉัยก็จะวินิจฉัยกลับมาเหมือนเดิม” นายพริษฐ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน