เป็นการผ่านร่างกฎหมายครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย กรณีสภาผู้แทนฯโหวตผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่) พ.ศ.

นอกจากการให้สิทธิกลุ่ม LGBTQ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถแต่งงานกันได้แล้ว จากร่างที่มี 4 หมวด 68 มาตรา ให้สิทธิ สวัสดิการอะไรอีก

บทบัญญัติกำหนดให้ การหมั้น และ การสมรส จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปี บริบูรณ์แล้ว

ทั้งนี้การหมั้นจะสมบูรณ์ได้ เมื่อ “ฝ่ายผู้หมั้น” ได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ “ผู้รับหมั้น” เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น

เรื่องสินสมรส ทรัพย์สินที่คู่สมรสทำไว้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นคู่สมรสกันอยู่ หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นคู่สมรสกันก็ได้ โดยทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสนอกจากที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรส

สินสมรสที่มีเอกสารเป็นสำคัญ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของร่วมกันก็ได้ และต้องจัดการสินสมรสร่วมกันตามกฎหมายกำหนด อาทิ การขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า กู้ยืมเงิน

กรณีหนี้สิน หนี้ที่คู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกันให้รวมถึงหนี้ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสด้วย

การฟ้องหย่า การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ได้เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนหย่า โดยมีเหตุผลฟ้องหย่า 10 ข้อ เช่น การยกย่องคนอื่นฉันคู่สมรส เป็นชู้หรือมีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ, ประพฤติชั่วร้ายแรง, ทำร้ายหรือทรมานร่างกาย จิตใจ, ละทิ้งอีกฝ่ายเกิน 1 ปี, ถูกจำคุกเกิน 1 ปี, ไม่อุปการะเลี้ยงดู

สามารถเรียกค่าทดแทนกรณีอีกฝ่ายมีชู้ได้ด้วย ยกเว้นกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายทำให้ ไม่อาจร่วมประเวณี หรือไม่อาจสนองความใคร่ได้ตลอดกาล

และกำหนดให้บทกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใด ที่อ้างถึง สามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนี้

และมิให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ฯลฯ กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา หรือสามีภริยาไว้แตกต่างกัน

หมายถึง หากร่างนี้ผ่านวุฒิสภาโดยไม่มีการแก้ไข คู่สมรสที่ไปจดทะเบียนสมรสจะมีสิทธิ ได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการตามกฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกันกับคู่สมรสชายหญิง

ทั้งนี้ หากผ่านเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.นี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.นี้ยังต้องผ่านการพิจารณา ด่านที่สองในชั้นวุฒิสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 2 เม.ย.นี้

มีความเห็นจากโฆษกวิปวุฒิสภา สส. และกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่พิจารณาร่างดังกล่าว ถึงความสมบูรณ์ของร่างที่ผ่านสภาผู้แทนฯ และความคาดหวังจากสว.

นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โดยบริบทใหญ่ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านสภา มองว่าโอเคแล้วที่จะนำไปบังคับใช้ เนื้อหา สาระสำคัญได้ให้สิทธิของประชาชนได้สมบูรณ์แบบ

อาจมีเรื่องเล็กน้อยที่ต้องรอหลังกฎหมายประกาศใช้ว่าในทางปฏิบัติมีอะไรต้องเพิ่มเติม เป็นเรื่องของหน่วยงาน ทบวง กรม ต้องจัดทำฟีดแบ็กมาให้รัฐบาลว่ามีผลกระทบในการใช้จริงอะไร

ครั้งนี้โชคดีที่มีภาคประชาชนเข้าร่วม การแก้กฎหมายภาคประชาชนจะสะท้อนว่าเขาเจออะไรมา โดนอะไรมา จึงอยากให้กฎหมายออกมาสมบูรณ์และครอบคลุมที่สุด แต่การออกกฎหมายบางครั้งต้องระวังไม่ให้ไปกระทบกับกฎหมายฉบับอื่น

ข้อเสนอของภาคประชาชนเรื่อง “บุพการีลำดับแรก” ยังไม่มีในพจนานุกรม และกฎหมายอื่น หากใส่ไปอาจกระทบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นร่างหลัก ศาลยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านก็เป็นห่วง

แต่เราไม่ได้ติดขัดคำนี้ ในอนาคตหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นคำที่จำเป็น และหากกฎหมายบังคับใช้เแล้วไม่ตรงเจตนากฎหมาย หรือผิดเพี้ยน ก็แก้ไขได้ไม่ได้ปิดตาย แต่อาจใช้ร่างหลักนี้ไปก่อนเพื่อให้เป็นแม่แบบของกฎหมาย

รับทราบจาก สว.จะมีการบรรจุวาระพิจารณาวันที่ 2 เม.ย.นี้ และได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สว. ก็เห็นด้วยในหลักการ เป็นกฎหมายที่แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศฉบับหนึ่ง ท่านก็จะช่วยผลักดัน กับสว.

กฎหมายนี้ไม่ได้มีผลประโยชน์กับกลุ่ม LGBTQ เท่านั้น แต่ยึดถือสิทธิของทั้งหญิง ชาย รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้ทำให้สิทธิขาดหายไป เชื่อว่าสว.จะช่วยผลักดัน คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หากสว.ไม่มีข้อติดขัดเมื่อเห็นชอบก็ต้องตั้งกมธ.พิจารณา อีกทั้งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ 120 วัน ดังนั้นปลายปีนี้น่าจะมีผลบังคับใช้

นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง กมธ.เสียงข้างน้อยจากภาคประชาชน กล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่คืนสิทธิพลเมืองให้ประชาชนที่ถูกมองข้ามมาเป็นเวลานานต้องยอมรับว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายนี้มีความพยายามมานาน และรัฐบาลนี้ทำงานชิ้นนี้เป็นลำดับแรก และทำอย่างรวดเร็ว

กฎหมายที่ได้รับการบรรจุเป็นวาระเร่งด่วน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ ไม่เคยพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นวาระเร่งด่วนมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องเพศ

ตนทำงานเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศมาตลอด 30-40 ปี แต่จะทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ยากมาก พอมีรัฐบาลประชาธิปไตยก็ฟังเสียงประชาชน

แม้บางข้อไม่ถูกใจภาคประชาชนแต่ก็ยังมีข้อดีอยู่ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาที่ทำเรื่องสมรสเท่าเทียม เปิดพื้นที่ให้เพศหลากหลายก่อตั้งครอบครัวได้แต่ไม่ได้ให้สิทธิสวัสดิการสังคมเท่าเทียมกับชายหญิง หาเหตุผลต่างๆ ที่จะไม่ให้สิทธิเท่าเทียมกัน บอกว่าไม่มีความพร้อม

ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนเสนอเรื่อง บุพการีลำดับแรก เหตุผลของรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักกฎหมาย กฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรมคือคำนี้ยังไม่เคยมีถ้อยคำในประมวลกฎหมายแพ่งมาก่อนแต่คำว่าคู่สมรสก็ไม่เคยมีในกฎหมายแพ่ง แต่กำหนดได้

คิดว่าหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะฝ่ายกฎหมายกลัวการเพิ่มคำว่าบุพการีลำดับแรก เพราะมีกฎหมายในประเทศมากกว่า 100 ฉบับที่มีคำว่า บิดา มารดา ต้องไปเพิ่มคำว่าบุพการี ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ยาก

หวังว่า สว.จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะ สว.สามารถห็นเพิ่มเติมได้ ไม่ใช่เห็นต่าง ก่อนหน้าได้เสวนาร่วมกับ สว.มาบ้าง คิดว่าท่านเข้าใจ อาจเห็นด้วยกับภาคประชาชนก็ได้

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. และโฆษกกมธ.วิปวุฒิสภา กล่าวว่า สว.ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นมิติใหม่ของประเทศเป็นความต้องการของ สส.เกือบทุกคนทุกพรรค ทุกฝ่าย รวมถึงภาคประชาชน

สว.จะบรรจุระเบียบวาระ 2 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณารวมถึงลงมติในวาระ 1 ของวุฒิสภา แน่นอนการพิจารณาจะไม่ทันในสมัยการประชุมสมัยนี้เนื่องจาก 9 เม.ย. จะปิดสมัยประชุม

หากที่ประชุมรับหลักการวาระ 1 จะตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยวุฒิสภาเตรียมรายชื่อกมธ.ไว้เรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมทำงาน เพื่อให้ทันพิจารณาวาระ 2 และ 3 ต้นเดือนก.ค.ที่จะเปิดสมัยประชุม

คา ดสว.ชุดนี้จะมีเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนกกต.ประกาศรับรองผล สว.ชุดใหม่ ทำให้สว.ชุดนี้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะผ่านความเห็นชอบในรัฐบาลชุดนี้

ที่จริงเมื่อเปิดสมัยประชุมอีกครั้งต้นก.ค.67 เราหมดวาระ แต่ในรัฐธรรมนูญให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ คาดจะเหลือเวลาประชุมแค่ 2-3 สัปดาห์ เวลาที่เหลือก็จะนำร่างกฎหมายที่ทำในชั้น กมธ.ช่วงปิดสมัยประชุมให้ผ่านให้หมด หากผ่านไม่ได้แล้วหมดวาระไปก่อนก็จะเกิดรอยต่อเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย

ฉะนั้นเพื่อตัดปัญหาต้องทำทุกอย่างให้เสร็จสมบูรณ์แบบมากที่สุดภายในระยะเวลาที่เหลือก่อนหมดวาระ หากกฎหมายทั้งหมดผ่าน ก็ถือเป็นผลงานของ สส. และสว.

กรณีกฎหมายเป็นที่เรียกร้องต้องการ การพิจารณาในชั้นกมธ.จึงมีความสำคัญ สามารถแก้ไขได้แต่ต้องคิดให้ดี ควรแก้ไขเท่าที่จำเป็น หากแก้ไขมากก็ต้องกลับไปถามสภาและตั้งกรรมการร่วม ทำให้ใช้เวลายืดยาวไปอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน