เท่าพิภพ อัดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ไม่คืบหน้า ห่วงเอื้อประโยชน์บางคนบางกลุ่ม ‘จุลพันธ์’ แจงขอความเป็นธรรมให้คนทำงาน นายกฯติดตามไม่ให้เกิดทุจริต

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 3 เม.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในห้องประชุม

โดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐบาลมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ โดยวางหลักการเริ่มจากการพัฒนาคน ตั้งเป้าชัดเจน 100 วันแรก ควิกวิน อีก 1 เดือน วางแผนจะทำหลายอย่าง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

อย่างไรก็ตาม มีการเคาะงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการต่างๆ ของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งงบเฟสติวัลมากที่สุด 1,300 ล้านบาท ตลอด 1 ปีมี 365 วัน ประเทศไทยจะมี 10,000 อีเวนต์ ตกวันละ 27 อีเวนต์ ซึ่งการใช้งบประมาณจะใช้ทำประชาสัมพันธ์อีเวนต์ต่างๆ เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณ

“ต้องมีความเข้าใจคำนิยามของซอฟต์พาวเวอร์อย่างแท้จริงว่า มีความหมายอย่างไร เพราะขณะนี้เกิดความสับสนเชิงนโยบาย ทำให้ไม่มีใครเข้าใจแล้วทำได้ถูกต้อง แผนการใช้งบไม่ตอบโจทย์นโยบายหาเสียง และการตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของบางคนหรือบางกลุ่มหรือไม่” นายเท่าพิภพ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานที่ล่าช้าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น แม้จะเห็นความตั้งใจของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ แต่หลายส่วนอาจทำให้คำพูดที่ว่า รัฐบาลเพื่อไทยหัวใจไม่ใช่ประชาชนอาจจะเกิดขึ้นได้

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า จะนำข้อสังเกตไปสะท้อนคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ แต่ยืนยันว่า นายกฯ ติดตามการทำงานใกล้ชิด รวมถึงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาชอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ติดตามและผลักดันอย่างจริงจัง แต่ยอมรับว่ายังมีความจำเป็นเรื่องกลไกทางกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.THACCA ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 จากนั้นจะส่งร่างกฎหมายเข้า ครม. และนำเข้ากฤษฎีกา หวังว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ในสมัยประชุมถัดไป

“ข้อห่วงใยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องขอความเป็นธรรมให้อนุกรรมการทุกชุด อย่าให้เขาเสียกำลังใจที่เสียสละมาร่วมงานกับภาครัฐ เงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้คำนี้ยังใช้ได้ ยืนยันว่านายกฯ ดูเรื่องทุจริต จะไม่ให้เกิดขึ้นในรัฐบาลปัจจุบัน แต่หากมีปัญหาอยู่ ต้องพยายามไม่ให้มีอีก แต่หากมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจริง ก็มีกลไกของระบบราชการตรวจสอบตั้งแต่ต้น มีกลไกติดตามการกำกับงบประมาณ เชื่อว่ายังมีศัยภาพสามารถติดตามการใช้งบได้ ดังนั้น ขออย่าเพิ่งติดป้ายนโยบายว่ามีความทับซ้อนทุจริต” รมช.คลัง ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน