นายกฯ สั่ง สปสช.-สปส. จับมือทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.ยกระดับหลักประกันสุขภาพ ตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษา

เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้ความสำคัญกับสุขภาพ การเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพประชาชน มุ่งมั่นพัฒนาสิทธิและหลักประกันสุขภาพของไทย ลดความเหลื่อมล้ำ

โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสุขภาพเชิงรุก พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนที่ใช้สิทธิของผู้ประกันตน สามารถตรวจสุขภาพตามรายการสุขภาพพื้นฐานและเพิ่มเติม ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษา ลดอัตราการเจ็บป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิต

นายชัย กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน บูรณาการความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน ดำเนินการเพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เพื่อสร้างกลไกสำคัญ ส่งเสริมให้ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิตรวจสุขภาพตามรายการสุขภาพพื้นฐานของ สปสช. รวมถึงการใช้สิทธิตรวจสุขภาพเพิ่มเติมของ สปส. 14 รายการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เริ่ม 1 เม.ย.2567)

มุ่งสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยทุกคน ทุกสิทธิอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ ด้วยการตรวจคัดกรองสุขภาพ ค้นหาความผิดปกติ และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่ระยะแรก รวมถึงลดความซ้ำซ้อนของชุดบริการตรวจสุขภาพประจำปี (สปส.) และชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (สปสช). และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนให้เข้ารับบริการในหน่วยบริการเพียงแห่งเดียว แต่ได้รับบริการครอบคลุมตามรายสิทธิประโยชน์ทุกรายการที่ทั้งสองหน่วยงานกำหนด

โดยการบรูณาการร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความร่วมมือของหน่วยงานบริการตรวจสุขภาพ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการบริการการตรวจสุขภาพประจำปี ของ สปส. 14 รายการ และการบริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคตามรายการบริการ (Fee Schedule) ของสปสช. ที่จำแนกตามกลุ่มอายุ จำนวน 24 หมวดรายการ

โดยเน้นการขยายรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุมากขึ้น เช่น ช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี 1 ครั้งทุกปี เช่น ตรวจไขมันในเส้นเลือด(Total cholesterol & HDL cholesterol) น้ำตาลในเลือด(Fasting Blood Sugar) การทำงานของไต(Cr และ eGFR) ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC) ตรวจปัสสาวะ(UA) ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง(FiT TEST) การตรวจวัดความดันของเหลวภายในลูกตา (Tonometer) รวมถึงเพิ่มความถี่การถ่ายภาพรังสีทรวงอก(Chest X-ray) เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นดูแลประชาชน เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง และเสียชีวิต รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่จะสูญเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล โดยในปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว รวม 213 แห่ง แบ่งเป็น สถานพยาบาลรัฐ 165 แห่ง เอกชน 48 แห่ง สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ www.sso.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง








Advertisement

“นายกฯให้ความสำคัญ ต้องการพัฒนา บูรณาการทำงานในส่วนของหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน ยกระดับการตรวจสุขภาพ ลดอัตราการเจ็บป่วย และเพิ่มการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง อย่างครอบคลุม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป” นายชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน