พิพัฒน์ แจงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัด ผ่านไตรภาคีแล้ว เริ่ม 13 เม.ย.นี้ มั่นใจ ค่าแรงวันละ 600 บาทได้เห็นในปี 2570 ตามคำสัญญาของรัฐบาล

วันที่ 5 เม.ย.2567 ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ซึ่งจะนำร่องใน 10 จังหวัด ในกลุ่มอาชีพธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปว่า การผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ มีมติผ่านกลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ซึ่งจะมีการปรับให้ถึง 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศในปี 2567 ที่กำลังดำเนินการอยู่ และจะดำเนินการไปถึง 600 บาทต่อวัน ในปี 2570 อย่างแน่นอน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายทั่วไปอาจจะสื่อสารแล้วเกิดความเข้าใจผิด จึงขอยืนยันว่า ขณะนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน นำร่อง 10 จังหวัด ที่ดำเนินการ ผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ประกาศใช้วันที่ 13 เม.ย.2567 เป็นการดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมตัวรองรับผลกระทบต่างๆ

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตนมีการสื่อสาร จากคำว่าการขึ้นค่าแรงเกิดเป็นหย่อม ความหมายก็คือเราต้องพยายามทำให้ไปทีละส่วน ทีละอาชีพ เพื่อความมั่นคงและเพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นกระทรวงแรงงาน โดยท่านปลัดกระทรวงแรงงาน มีการเรียกประชุมไตรภาคี ก็คือฝ่ายนายจ้างลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการ ในวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นการประกาศนำร่องใน 10จังหวัด นั่นก็คือเราพยายามที่จะทำไปทีละขั้น ทีละตอน

“ในความหมายที่ผมสื่อออกไปนั้น ผมคิดว่าเราทำอย่างนักวิชาการทำให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ รับทราบว่านโยบายของรัฐบาลเรื่อง 400 บาท ค่าแรงขั้นต่ำประกาศทั่วประเทศในปี 2567 เป็นเป้าหมาย กระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาขึ้นค่าแรงผ่านกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึง 600 บาท ในปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา” นายพิพัฒน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน