“เสกสรรค์” อธิบาย “สมการอำนาจ” สังคมไทย “อนุรักษ์ยิม-ก้าวหน้า” ชี้ “ผู้มีอำนาจ” ผูกขาด “ความดี-ความเป็นไทย” ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม – ปฏิเสธ “ประชาธิปไตย”

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 มี.ค. ที่หอประชุมศรีบูรพา นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวปฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่16 หัวข้อ “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย” ใจความว่า ตลอด 10 กว่าปีมานี้ บ้านเมืองเราตกอยู่ในความขัดแย้งระดับที่ไม่มีใครฟังใคร และความขัดแย้งทางความคิดก็เป็นเหตุสำคัญ ที่ทำให้เราปรองดองกันได้ยาก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน เฉพาะหน้าอาจแบ่งความขัดแย้งได้ 2 กลุ่ม คือ อนุรักษ์นิยม และก้าวหน้า ซึ่งแต่ละกลุ่มยังมีกิ่งก้านสาขามากมาย เช่น รัฐนิยม จารีตนิยม ต้านคอรับชั่น ถือศีลกินผัก ส่วนอีกกลุ่ม ก็นักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน พ้นจากนี้ ก็มีอีกกลุ่มที่ผสมกันระหว่าง อนุรักษ์นิยม และก้าวหน้า

นายเสกสรรค์ กล่าวว่า เรื่องการเป็นคนดี ผูกขาดกับศีลธรรม สังคมไทยต้องเป็นคนดี ผู้ปกครองต้องเป็นคนดี ความดีกลายเป็นกรอบคิดที่อยู่เหนือยุคสมัย ขณะเดียวกัน ความดีก็เป็น ทวิภาวะ ความดีก็สามารถถูกสมาทานเข้ามาได้ว่า ตนเองเป็นคนดี ก็ทำให้รู้สึกเหนือคนอื่น จึงต้องระวังให้มาก เช่นดื่มสุรา สูบบุหรี่ น่ารังเกียจ สมควรถูกต่อต้านและประณาม ยกข้อกล่าวหาขึ้นสู่ศาสนา เรียกภาษีบาป ขณะคนที่ไม่ยุ่งคือ คนดี ปัญหานี้ถูกเสริมขยายไปไกล ต่อต้านประณามกันจนล้นเกิน ลดคุณค่าของความเป็นคนที่ถูกต้าน คนสูบยา กินเหล้าเป็นคนไม่ดี ลดทอนเขาให้มีมิติเดียวคือร่างกาย ไม่คำนึงถึงมิติทางสังคมและวัฒนธรรม

“มีผู้สูบ 11 ล้านคน มีคน 18 ล้านคนดื่มเหล้า คนไทยกว่า 20 ล้านคน ถูกมองว่า ไม่ดี ทั้งที่มีหลายวิชาชีพที่ทำให้ประโยชน์ให้สังคมไม่แพ้ใคร นี่คือการสร้างฐานอำนาจ ให้ตัวเองมีอำนาจอยู่เหนือคนอื่น การลดอำนาจคนอื่น คือ การสถาปนาอำนาจให้เหนือคนผู้นั้น ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ยุคทาส ในนามของความหวังดี ก็ขี้นภาษีได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เก็บภาษีได้ปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท นอกจากจะถูกประณามแล้ว ยังถูกล้วงกระเป๋า ไม่เคยมองว่า เขาเป็นผู้เสียภาษีรายใหญ่ เหล้าบุหรี่คือ สมการทางอำนาจ ระหว่างคนดีกับคนไม่ดี นำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำลายล้างกดเหยียดคนไม่ดี” นายเสกสรรค์กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวด้วยว่า แนวคิดนี้ถูกใช้อย่างเข้มข้นในการต้านรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อปี56 และนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อปี 57 หลายคนไปไกลถึงขั้นคนไม่เท่ากัน คนไม่ดีไม่ควรมีสิทธิในเรื่องการเมืองการปกครอง เมื่อเอาความคิดนี้มาใช้ จึงเข้าใจว่า ทำให้การรังเกียจนักการเมืองจึงขึ้นสู่กระแสสูง การดึงอำนาจมาสู่คนดียังมีช่องโหว่ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ผู้ที่เขาต้องการตัดสิทธิทางการเมืองไม่ใช่แค่ทางการเมือง แต่ยังรวมถึงประชาชนนับล้านที่เลือกด้วย ความเป็นคนดีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น สอดประสานกับฐานทางชนชั้นอย่างแยกไม่ออก คนดีคือมีฐานะ มีการศึกษา คนไม่ดีคือ คนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง ไม่มีการศึกษา

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าวอีกว่า คำถามจึงกลับมาที่ปรัชญาการเมืองคือ ใครควรมีสิทธิทางการเมืองการปกครอง ใครไม่ควรมีสิทธิในการเมืองการปกครอง แต่ผู้มีอำนาจตอนนี้แค่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวก็สอบไม่ผ่านแล้ว เมื่อถอดสมการการเมืองจะพบว่า กองหน้าคนดีคือ ข้าราชการ นายทุน คนชั้นกลางระดับบน คนไม่ดีคือ นักการเมือง และชาวบ้านที่เลือกเขามา พูดอีกอย่างคือ ประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องตรงข้ามกับความดี แต่มันจะทำให้ความดี ที่ทำให้เข้าถึงได้โดยทุกคน การสมมติตนเปนคนดีเพื่อรวบอำนาจนั้น ไม่ถูกต้้อง

“เรื่องของความเป็นไทย ก็เป็นอีกวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้มากในความขัดแย้ง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่รัฐไทยสร้างขึ้นทั้งนั้น ใครตั้งคำถามกลับต้องถูกขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น เป็นเรื่องน่าแปลก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ไม่เคยเปลี่ยน ความเป็นไทยไม่เคยมีสิทธิเสรีภาพ หรือประชาธิปไตย อยู่ในเนื้อใน ความเป็นไทยจึงถูกนำไปเสริมฐานอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แถวหน้าของความเป็นไทย คือกลุ่มเดียวกับพวกถือตนเป็นคนดี อำนาจนิยมโดยการเชิดชูความเป็นไทย จะบอกว่า ประชาธิปไตยเป็นของโลกตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมไทย ซึ่งอันตรายหากจะขับเคลื่อนแบบนี้ เพราะประชาธิปไตยเป็นคุณค่าสากลมานานแล้ว” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวอีกว่า ในโลกที่เป็นอยู่ ประชาธิปไตย ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนไทยน้อยลง อันที่จริงมันจะยิ่งเสริมให้เรามีศักดิ์ศรีมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ จึงไม่เหตุผลที่จะนิยามความเป็นไทย ให้มีเพียงการเชื่อฟังรัฐ หรือเพื่อความมั่นคงเท่านนั้น สังคมไทยจึงต้องมีพื้นที่เรียกร้องต่อรอง ไม่ใช่เพียงคนหยิบมือเดียวมากำหนดการปกครอง ยิ่งใช้ความเป็นไทย จะยิ่งทำร้ายคนไทยที่ดำรงอยู่ เช่น การใช้ความเป็นไทยต่อต้านนักศึกษาฝ่ายซ้าย ผลคือการนองเลือดเมื่อ 6 ตุลา 19 โชคดีที่รัฐประหารครั้งนี้ ยังไม่ร้ายแรงขนาดนั้น แต่ก็อาจสุมอยู่ในใจของคนก็ได้

นายเสกสรรค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า 85 ปี ทำไมประชาธิปไตยจึงหยั่งรากลึกไม่พอ อุปสรรคใหญ่คือ ภาครัฐที่พยายามทวงคืนครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นักการเมืองไม่ได้พยายามผลักดันขยายประชาธิปไตย ขยายออกไปในระดับโครงสร้าง เรื่องที่่ควรทำแต่ไม่ทำคือ

1.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

2.ปฏิรูประบบราชการให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

3.ขยายงานรัฐสภาให้เกี่ยวร้อยประชาชนเข้ามาในกระบวนกการนิติบัญญัติอย่างสม่ำเสมอ

ที่ผ่านมานักการเมืองและพรรคการเมือง ใช้ความสัมพันธ์แบบจารีต เป็นอวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์ นักการเมืองต้องขยายความคิดให้กว้างไกลกว่าที่ผ่านมา ต้องสำนึกการแย่งระบอบกับคู่แข้งให้เข้มข้นขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน