เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่รัฐสภา นายสรศักดิ์ เพียงเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงตอบโต้อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวหาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเฉพาะการขอประมาณรอบใหม่เป็นเงินกว่า 8,658 ล้านบาทว่า สาเหตุที่ต้องของบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมตั้งไว้ 3,000 กว่าล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณเรื่องสาธารณูปโภค และระบบสารสนเทศ หรือไอที ซึ่งการขอเพิ่มตามการออกแบบที่ทันสมัยใหม่และมีความเหมาะสม รวมทั้งค่าตบแต่ง ได้หารือกับ กรมบัญชีกลาง กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างต่างๆของหน่วยงานรัฐ และได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นตามแผนว่า รัฐสภา ถ.อู่ทอง จะต้องย้ายไปอยู่แห่งใหม่ย่านเกียกกาย ซึ่งจะเสร็จก่อนบางส่วน ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2561 แต่ขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่า งบประมาณ 8,658 ล้านบาทที่รัฐสภาขอไปจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อใดเราคงกำหนดไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับครม.

“หากครม.อนุมัติงบประมาณดังกล่าวล่าช้า จะทำแผนการย้ายต้องสะดุดลง และคงต้องใช้แผนสองที่จะต้องไปเช่าสถานที่ที่มีห้องประชุมขนาดใหญ่เพื่อรองรับสมาชิกรัฐสภา แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไหน ซึ่งจะทำให้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐสภา 18 คนคัดค้านการประมูลโดยวิธีคัดเลือกนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะทั้ง 18 คนไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่บอกให้ผู้บริหารปฏิบัติตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งทางคณะผู้บริหารของรัฐสภาก็ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมสอบแต่อย่างใด”นายสรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายโชติจุฑา อาจสอน กรรมการบริหารที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า งบประมาณเดิมในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่วงเงิน 15,000 กว่าล้านบาทเศษ แบ่งเป็นงบค่าก่อสร้างอาคารหลัก 11,300 กว่าล้านบาท งบเทคโนโลยีและการสื่อสาร 3,000 ล้านบาท งบสาธารณูปโภคและระบบประกอบอาคาร 586 ล้านบาท ต่อมางานก่อสร้างอาคารรัฐสภาได้ว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 12,280 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติงบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาธารณูปโภคไว้ 3,586 ล้านบาท และในปี 2558 ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาการออกแบบงานสารสนเทศ ซึ่งเห็นว่าการออกแบบดังกล่าวไม่เหมาะสม ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยรองรับการใช้งาน สภาจึงได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3 คณะเพื่อศึกษาความต้องการของสภาฯและวุฒิสภาภายใต้คำแนะนำของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และได้จ้างบริษัทเมอลินเข้ามาออกแบบงานในส่วนนี้

ส่วนงบประมาณเดิมได้มา 3,586 ล้านบาท แยกเป็นงานสาธารณูปโภค 586 ล้านบาท ได้มีการปรับปรุงรูปแบบใหม่ ทำให้งบประมาณลดลงเหลือ 537 ล้านบาท ส่วนงบจำนวน 1,400 ล้านบาทเป็นรายการใหม่ เดิมงบไม่พอจึงถอดงบโสตทัศนูปกรณ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และงานอื่นๆ ทำให้งานเหล่านี้เพิ่มขึ้นมา ส่วนที่ตัดออกไปซึ่งเป็นงานเดิมคือกระจกที่อยู่รอบโดมห้องประชุม แอร์ทางเดิน หรือระบบคอนโทรลไฟอัตโนมัติบางส่วน และนำส่วนนี้เข้ามาเหมือนเดิมเพื่อให้อาคารมีความสมบูรณ์ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยด้วย ซึ่งงบที่เพิ่มขึ้นมาเป็นรายการให้ทั้งหมด

นายประสิทธิ์ อนันตวิรุฬห์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ขอไป 8,658 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 3 งวด งวดแรก ขึ้นอยู่กับครม.ว่าจะอนุมัติเท่าไหร่ เมื่อได้งบก้อนแรกมาแล้ว จะเปิดให้บริษัทต่างๆที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยื่นซองประมูลประมาณเดือนเมษายนนี้เพื่อดำเนินการงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะใช้จากงบกลาง นอกจากนั้น จะเป็นงบประมาณปกติปี 2562 และปี 2563 เพื่อดำเนินก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 15 ธันวาคม 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน