นโยบายของกระทรวงแรงงาน โดย พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้นโยบายเน้นหนักและเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้แรงงานอิสระ เข้าถึงหลักประกันทางสังคม สร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม มีการสร้างหลักประกันทางสังคม ที่ครอบคลุมเหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่มอาชีพ และส่งเสริมให้แรงงานภาคสมัครใจเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง

ดังนั้น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย คืนสิทธิให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบโดยสมัครใจมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพกว่า 777,228 คน ให้กลับเข้าสู่การคุ้มครอง
ในระบบประกันสังคมอีกครั้ง โดยมีระยะเวลาขอคืนสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2561 – 19 เมษายน 2562

สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่มาขอคืนสิทธิมาตรา 39 นั้น จะได้รับเหมือนเช่นเดิมกับที่เคยอยู่ในระบบ 6 กรณี คือ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และชราภาพ

และสำหรับสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลให้เพิ่มเติม เช่น การเพิ่มค่าฝากท้อง 1,000 บาท และสงเคราะห์บุตรที่เพิ่มเป็น 600 บาท ต่อคนต่อเดือน คราวละ 3 คน จนครบ 6 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ด้วยเช่นกัน จะเห็นว่ารัฐบาลปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันนำส่งเพิ่มเติม โดยจ่ายที่ 432 บาทต่อเดือนเช่นเดิม

“ตนอยากจะให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพ ตระหนักถึงความสำคัญและสิทธิ
ความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคม ที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ให้กับผู้ประกันตน เพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง โดยเพิ่มและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี อีกทั้งคืนสิทธิให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยไม่ขาดส่งเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ จากสำนักงานประกันสังคมเช่นเดิม” พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ขอยกกรณีตัวอย่างของ นางสาวพชระ ภักดิ์สุวรรณ์ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ขอกลับคืนสภาพเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 ทางสำนักงานประกันสังคม ได้คืนสิทธิตามมาตรา 39 และต่อมาได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกในวันที่ 3 มิถุนายน 2561 สำนักงานประกันสังคม ดูแลรับผิดชอบคืนสิทธิผู้ประกันตนให้กับทายาทของ นางสาวพชระ ภักดิ์สุวรรณ์ ทันที

โดย นายพล ภักดิ์สุวรรณ์ บิดาของ นางสาวพชระ เปิดเผยว่า ลูกสาวเคยทำงานในโรงงาน
ที่กรุงเทพฯ และเริ่มไม่สบาย ร่างกายไม่แข็งแรง จึงได้ลาออก กลับมาอยู่บ้านหยุดส่งเงินประกันตนเอง
โดยสมัครใจมาตรา 39 ไป จนกระทั่งขาดสิทธิ เมื่อทางรัฐบาลให้สามารถขอคืนสิทธิได้ ก็กลับมาขอคืนสิทธิส่งเงินสมทบต่อเดือนละ 432 บาท เพื่อใช้สิทธิในการรักษา ตนเองกับโรงพยาบาลในสังกัดของสำนักงานประกันสังคม จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก

ทางสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายค่าจัดการศพจำนวน 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตจำนวน 28,800 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพอีกจำนวน 43,607.91 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 112,407.91 บาท ให้กับครอบครัว

นายพล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สิทธิประโยชน์ที่ทางสำนักงานประกันสังคมให้ ถือว่ามีประโยชน์เป็นเรื่องที่ดีมาก สำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่อยู่ข้างหลัง

ขณะนี้มีแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วจำนวน 4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.5 ล้านคน ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 2.5 ล้านคน และอีกกว่า 20 ล้านคน ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม

สำหรับการส่งเงินสมทบมาตรา39 ก็ง่าย จ่ายเงิน 432 บาทต่อเดือน โดยจ่ายผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร
กรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารธนชาตทุกสาขา และที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา ผ่านระบบ Pay at Post ที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ หรือผ่านเคาน์เตอร์ Cen Pay (ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล) ฟรีไม่เสียค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ

หรือหักผ่านบัญชีธนาคาร 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือดูข้อมูลได้ที่ www.sso.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน