นับจากปี 2549 ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) แยกตัวออกมาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติยังคงบทบาทหลักในการกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ส่วน สทน. ในฐานะหน่วยปฏิบัติการจึงมีภารกิจหลักในการวิจัยพัฒนาและนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในรอบ 12 ปี นับจากวันก่อตั้ง สทน. มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการวิจัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และให้บริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจไทย

ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในรอบสิบสองปีที่ผ่านมา สทน. ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิจัยพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณู และให้บริการทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจไทย ตลอดการดำเนินงานของ สทน. ในช่วงที่12 ปี ที่ผ่านมา สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 5,800-6,000 ล้านบาท ที่ครอบคลุมกิจกรรมในด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เกษตรอุตสาหกรรม การแพทย์ นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากกว่า 700 เรื่อง มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากกว่า 200 เรื่อง และสามารถนำมาต่อยอดเป็นงานบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่า 30 งานบริการ เช่น งานบริการฉายรังสีอัญมณี งานบริการฉายรังสี/ งานตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา งานบริการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี สินค้าส่งออก/นำเข้า ฯ สำหรับงานบริการที่สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในระดับประเทศ โดยส่งเสริมภาคธุรกิจและการสร้างรายได้ให้กับประเทศ อาทิ งานบริการตรวจสินค้าส่งออกโดยฉายรังสีในอาหารและผลิตผลการเกษตร เพื่อฆ่าเชื้อโรคและเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ ฯ ในแต่ละปี สทน. ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศออสเตรเลีย สินค้ามีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และไม่ถูกปฏิเสธการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี ในการด้านสุขภาพพลานามัย สทน. เป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถผลิตเภสัชภัณฑ์ทางรังสี เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น มะเร็งต่อมไร้ท่อ ตรวจการทำงานของไต และรักษาโรค อาทิ มะเร็งต่อมไทยรอย์ โรครูมาตอยด์เรื้อรัง บรรเทาอาการปวดจากมะเร็งแพร่กระจาย ฯลฯ โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยใช้ยาที่ผลิตโดย สทน.มากกว่า 30,000 ราย ทำให้ไทยลดการนำเข้าเภสัชภัณฑ์รังสีจากต่างประเทศ สามารถประหยัดเงินได้กว่า 300 ล้านบาท

ในอนาคตอันใกล้นี้ สทน.มีแผนเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีอาหารและผลิตผลทางการเกษตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องฉายรังสีขนาด 3 และ 10 เมกกะอิเล็กตรอนโวลล์ คาดว่าจะดำเนินการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ในปี 2562 ในส่วนของการผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยมะเร็งและเนื้องอก โดยการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน 30 เมกกะอิเล็กตรอนโวลล์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเภสัชรังสีได้ในปี 2563 และสามารถลดการนำเข้าเภสัชภัณฑ์รังสีได้มากกว่าปีละ 200 ล้านบาท และประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยเภสัชภัณฑ์รังสีเพิ่มขึ้นปีละกว่า 20,000 ราย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน