วันนี้ (10 กรกฎาคม 2561) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC สนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในรั้วจุฬาฯ อย่างครบวงจร ตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบการจัดการขยะของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่จุฬาฯ เนื่องด้วยมีจำนวนนิสิตและบุคลากร กว่า 40,000 คน จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืน หรือ โครงการ Chula Zero Waste เพื่อดำเนินการลดปริมาณการเกิดขยะ การคัดแยกขยะ และการสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับนิสิตและบุคลากร โดยจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ GC ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยนำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่หรือ BioPBSTM เช่น แก้ว Zero-Waste Cup ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้100% มาใช้ในจุฬาฯ โดยในปี 2561 มีเป้าหมายเริ่มต้นใช้ในโรงอาหารทั้งหมด 17 แห่ง ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 170,000 ชิ้นต่อเดือน หรือ 2 ล้านใบต่อปี จุฬาฯ ได้สร้างระบบการจัดการแก้ว Zero-Waste Cup อย่างครบวงจร โดยการคัดแยก แก้ว Zero-Waste Cup ที่ใช้งานแล้ว นำไปฝังกลบในสภาวะปุ๋ยหมักให้เกิดการย่อยสลาย เพื่อนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดิน นับเป็นการบริหารจัดการขยะแบบ Closed-Loop Bioplastic Management ที่แรกในประเทศไทย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งความ ท้าทายที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยได้พัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ โดย นำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBSTM ใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ โดยประสิทธิภาพในการใช้งานทัดเทียมพลาสติกทั่วไป แต่สามารถย่อย

สลายได้ตามธรรมชาติ เช่น การใช้ BioPBSTM มาเคลือบกระดาษและผลิตเป็นแก้ว ซึ่งจะทำให้แก้วกระดาษทั้งใบสามารถย่อยสลายได้ทุกส่วน และยังคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ การย่อยสลายตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้ในสภาวะปุ๋ยหมัก โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงหมักอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

ความร่วมมือในโครงการ นี้ GC สนับสนุนจุฬาฯ ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม Zero-Waste Cup ซึ่งผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ BioPBSTM ที่สามารถย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน นอกจากนี้ GC ยังร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับ ชาวจุฬาฯ และชุมชนรอบข้างเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยเริ่มจากการคัดแยก การจัดเก็บ การรีไซเคิล และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน