ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการออม เพื่อให้ประชาชนได้มีเงินใช้ในยามเกษียณหรือในยามที่ต้องออกจากงาน เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ดังนั้น การที่จะใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายให้ได้อย่างมีความสุข และลดภาระลูกหลานให้ได้มากที่สุด ในช่วงที่กำลังหาเงินได้อยู่นั้น ควรที่จะเริ่มวางแผนการเงิน ที่ให้ได้ทั้งประโยชน์ในช่วงหลังออกจากงาน และกรณีเจ็บไข้ได้ป่วยยังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ด้วย

สำนักงานประกันสังคม มีภารกิจหลักในการบริหารการประกันสังคมและเงินทดแทน โดยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคง ได้ออกสิทธิประโยชน์แก่ “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39” หมายถึง บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 หรือ ผู้ประกันตนภาคบังคับมาก่อนแล้วลาออก แต่ยังคงต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน และ “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40” หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39

โดยมีเงื่อนไขของผู้ที่จะสมัครเป็น “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39” จะต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ที่สำคัญต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม ส่วนผู้ที่จะสมัครเป็น “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40” ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม รวมถึงบุคคลพิการที่ไม่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม โดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งทั้งสองสิทธินี้มีข้อที่เหมือนกันคือ “ไม่มีนายจ้าง” นั่นเอง

ในส่วนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุน “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39” ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน เดือนละ 432 บาท ขณะที่ “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40” สามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ 3 ทางเลือก คือ ความคุ้มครอง 3 กรณี จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท ส่วนความคุ้มครอง 4 กรณี จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท และความคุ้มครอง 5 กรณี จ่ายเงินเดือนละ 300 บาท

และที่ขาดไม่ได้ที่ผู้ประกันตนควรทราบ คือความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการสมัครเป็น “ผู้ประกันตนตามมาตรา 39” จะได้รับความคุ้มครอง กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ส่วน “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40” มีสิทธิประโยชน์ โดยจะแบ่งไปตามทางเลือกที่ผู้สมัครได้เลือก ซึ่งมีให้เลือกด้วยกันอยู่ 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 คุ้มครอง 3 กรณี จ่ายเพียงเดือนละ 70 บาท จะได้รับความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 คุ้มครอง 4 กรณี จ่ายเพียงเดือนละ 100 บาท จะได้รับความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีชราภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มทางเลือกที่ 3 คุ้มครอง 5 กรณี จ่ายเพียงเดือนละ 300 บาท จะได้รับความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และรับเงินสงเคราะห์บุตร

ในอนาคตประเทศไทยจะเข้าก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญนั่นก็คือจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นรณรงค์ให้มีการออมเงิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สำนักงานประกันสังคม จึงอยากจะเชิญชวนพี่น้องแรงงานอิสระที่ยังไม่มีหลักประกันในชีวิต มาสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจที่มีสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองมากมาย สามารถเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุด

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือดูข้อมูลได้ที่ www.sso.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน