ปัจจุบันมีผู้นิยมใช้บริการรถโดยสารไม่ประจำทางมากขึ้น เนื่องจากการเช่าเหมารถโดยสารไม่ประจำทางเพื่อที่จะเดินทางเป็นหมู่คณะได้รับความสะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะในเทศกาลวันหยุดยาวต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจ หรือด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะกิจ หรือเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้มีผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ประกอบการขนส่งฯ ทั่วประเทศจำนวน 37,858 ราย ซึ่งมีผลให้มีอุบัติเหตุจากรถโดยสารไม่ประจำทางเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สาเหตุมาจากพนักงานขับรถทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ขับรถด้วยความเร็ว หรือไม่ชำนาญเส้นทาง และเกิดจากสภาพรถที่ไม่ต้องใช้งาน รวมทั้งเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาพถนนไม่สมบูรณ์ ทัศนวิสัยไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ กรมการขนส่งทางบกได้มีกฎ ระเบียบ และ ข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยต่างๆ รวมถึงการพัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยในการควบคุม กำกับ ดูแล และบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนี้

  1. ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นมา กรมการขนส่งทางบกได้นำระบบเทคโนโลยี GPS มาใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ และติดตามข้อมูลเดินรถ โดยรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อขึ้นไปที่จดทะเบียนใหม่ต้องติดตั้ง GPS ทุกคัน สำหรับรถโดยสารที่ติดตั้ง GPS แล้วต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก ภายในระยะเวลาที่กำหนด สำหรับรถเช่าเหมา กำหนดให้ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ฯ GPS ภายในรอบปีภาษี 2560 โดยรถเก่าที่ติดตั้ง GPS แล้วต้องนำรถเข้ารับการตรวจสอบการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ GPS ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ ควบคู่กับการพัฒนาแก้ไขพฤติกรรมการให้บริการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถ และสร้างจิตสำนึกการขับขี่ปลอดภัยในพนักงานขับรถเพื่อความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างแท้จริง
  2. กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และ แจ้งพนักงานขับรถให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยรถที่ใช้ต้องจดทะเบียนเป็นรถโดยสารสาธารณะ (ป้ายเหลือง) ผ่านการตรวจสภาพรถและชำระภาษีถูกต้อง ติดตั้ง GPS Tracking และต้องมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ได้แก่เข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจกครบถ้วน และก่อนนำรถออกให้บริการต้องตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถและอุปกรณ์ส่วนควบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัยทุกครั้ง ผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลอายุการใช้งานของรถที่จะนำมาให้บริการ ชื่อ – สกุล เลขที่ใบอนุญาตขับรถ และ ระยะเวลาในการประกอบอาชีพของพนักงานขับรถ เพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้รับทราบขณะทำความตกลงว่าจ้าง และ ต้องจัดทำแผนการเดินทางซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางการเดินรถ วันที่เดินทาง จุดพักรถและจุดเปลี่ยนผู้ขับรถอย่างชัดเจน และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีประกันความเสียหายเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยมีวงเงินคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่ต่ำกว่าสามแสนบาท หากเป็นการเดินทางในระยะไกลเกิน 300 กิโลเมตร ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมพนักงานไว้ 2 คน โดยผู้ขับรถสามารถขับรถติดต่อกันได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงและต้องหยุดพักไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง และสามารถขับรถต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมงในรอบ 24 ชั่วโมง โดยใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และต้องบันทึกข้อมูลรายละเอียดการทำงานในสมุดประจำรถทุกครั้ง

ประชาชนที่เลือกใช้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่นำมาให้บริการ คนขับรถ และข้อมูลเกี่ยวกับสภาพรถที่จะนำมาให้บริการก่อนทำสัญญาว่าจ้าง รวมทั้งควรเลือกเดินทางในช่วงเวลากลางวัน หลีกเลี่ยงการเดินทางในยามวิกาล หากเป็นเส้นทางที่ลาดชันหรือคดเคี้ยวควรเลือกใช้บริการรถโดยสารชั้นเดียวเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และขณะเดินทางผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่โดยสารไปกับรถ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน