สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น นอกจากนี้การที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ส่งผลให้การระเหยของเหงื่อทำงานได้ไม่ดี ร่างกายไม่สามารถขับความร้อนออกมาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat stroke)

กทม. มีแนวทางในการป้องกันและดูแลสุขภาพประชาชนจากโรคเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน โดยมอบให้สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคที่พบบ่อยในช่วงที่มีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงโรคอาหารเป็นพิษ โรคอหิวาตกโรค โรคบิด เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่สูงกว่าค่ามัธยฐาน ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ สาเหตุของการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาดปนเปื้อนเชื้อหรือสารพิษที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยเมนูอาหารที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางระบบอาหารและน้ำในช่วงหน้าร้อน เช่น ก้อย ลาบดิบ ยำ ส้มตำ ข้าวมันไก่ อาหารทะเล อาหารที่ค้างวัน อาหารบูด น้ำดื่ม น้ำแข็งที่ไม่สะอาด หรือผลิตไม่ได้มาตรฐาน ฯ

ซึ่งกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย ร่วมกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต 50 เขต ลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในสถานประกอบการอาหารประเภทต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท และร้านจำหน่ายอาหารในสถานศึกษา พร้อมนำรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจคุณภาพอาหารในบริเวณชุมชน

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อป่วยด้วยโรคติดต่อทางระบบทางเดินอาหารและน้ำ

  1. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) ที่นำมาผสมกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ตามสัดส่วนที่แนะนำบนซอง และดื่มจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  2. ไม่ควรทานยาให้หยุดถ่ายหรือยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นควรพาไปพบแพทย์
  3. รับประทานอาหารที่สะอาด ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร
  4. ถ่ายอุจจาระลงในโถสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ
  5. หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์

การป้องกันตนเองเพื่อให้ไม่ป่วยด้วยโรคติดต่อทางระบบอาหารและน้ำ

1.ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังการใช้ห้องสุขา
2.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ งดอาหารสุกๆดิบๆ ถ้ากินไม่หมดให้เก็บไว้ในตู้เย็น
3.ดื่มน้ำสะอาด ถ้าเป็นน้ำต้มสุกจะดีที่สุด
4.ต้องอุ่นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารเหลือค้างมื้อ ให้ร้อนก่อนนำมากิน
5.ใช้ฝาชีครอบอาหาร หรือใส่ตู้กับข้าวให้มิดชิด ระวัง!! อย่าให้แมลงวันตอมอาหาร
6.ล้างผักสดและผลไม้หลายๆครั้งให้สะอาด
7.ล้างอุปกรณ์ทำครัว จาน ช้อน ถ้วย ชาม ให้สะอาดก่อนใช้
8.ถ่ายอุจจาระลงในโถสุขภัณฑ์
9.กำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้องและทิ้งในที่ที่เหมาะสม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด

“โรคลมแดด” เกิดจากอะไร และมีอาการโรคลมแดด เป็นอย่างไร ?
“โรคลมแดด” คือ ภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ เกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมสูง และร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเป็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่น ผดแดด บวมแดด ลมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด ส่วนอาการที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด คือใครบ้าง ?

  1. ผู้ที่ทำงานหรือกิจกรรมกลางแจ้ง
  2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือผู้สูงอายุ
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
  4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม
  5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

วิธีการป้องกันโรคลมแดด

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด หากจำเป็นให้สวมแว่นกันแดด กางร่ม
  2. ควรดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ โดยไม่ควรรอให้กระหายน้ำแล้วค่อยดื่ม
  3. สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี โปร่งสบายไม่รัดแน่นจนเกินไป
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  5. ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในบ้านที่เป็นห้องกระจกปิดไว้เพียงลำพัง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยลมแดด โดย

  1. รีบนำผู้มีอาการเข้าพักในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม หรือถอดเสื้อผ้าชั้นนอกที่ไม่จำเป็นออก
  2. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวและศีรษะเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด
  3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตาม ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
  4. ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย
  5. ถ้ามีอาการรุนแรง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าปี 2562
พบผู้เสียชีวิตรายแรกของปี 2562 จังหวัดสุรินทร์ เป็นชาย อายุ 32ปี ถูกสุนัขจรจัดกัดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 หลังถูกกัดไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เข้ารับการรักษาด้วยอาการมีไข้สูง สับสน กลืนลำบากเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 และเสียชีวิตในวันที่ 24 เมษายน 2562

สำหรับกรุงเทพมหานครปัจจุบันยังไม่มีผู้เสียชีวิต พบรายล่าสุดเมื่อปี 2559 เขตบางนา

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ พาหะนำโรคคือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยพบมากในสุนัขและแมว เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล(จากการถูกสัตว์กัด ข่วน

อาการของโรคที่สังเกตได้ คือไข้ในระยะเริ่มแรก มีภาวะเกร็งของกล้ามเนื้อร่างกาย กล่องเสียงตีบ มีน้ำลายมากกว่าปกติ บ้วนน้ำลายบ่อย ไวต่อสิ่งเร้าทำให้คล้ายมีอาการกลัวน้ำกลัวลม อัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะฟักตัวตั้งแต่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการนั้นบางรายอาจ 1 ปี บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน แต่โดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน แต่เมื่อเริ่มมีอาการติดเชื้อแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตในระยะเวลารวดเร็ว เฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์ “เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการแล้วไม่สามารถรักษาได้จะเสียชีวิตทุกราย”

– การป้องกันรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียบาดแผลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า โดยการไม่คลุกคลีกับสัตว์ที่เราไม่คุ้นเคย

– ป้องกันไม่ให้สัตว์เป็นบ้า โดยการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ลูกสุนัขสามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้จึงแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคเมื่อสุนัขอายุ 2 เดือน

– ถ้าป้องกันตามข้อ 1 และ 2 แล้ว แต่ยังถูกกัด ข่วน หรือเลียแผล ต้องรู้จักและตระหนักถึงวิธีป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า โดยต้องรีบล้างแผลให้สะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

หลังสัมผัสโรคควรรีบฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดและต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดจึงจะสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

ขอเน้นย้ำประชาชน “หากถูกสัตว์กัดข่วนอย่าชะล่าใจให้รีบ ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ”
กทม.มีบริการประชาชน ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

การควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง

  1. ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงต่อเนื่องตลอดปี และรณรงค์อย่างเข้มงวดปีละ ๒ ครั้ง ในเดือนมีนาคมและกันยายน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยให้บริการในคลินิกสัตวแพทย์ และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ตลอดจนให้บริการเชิงรุกในชุมชนต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานครครอบคลุมทั้ง 50 เขต และควบคุมจำนวนสัตว์พาหะนำโรค โดยให้บริการทำหมันสุนัขและแมว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประชาชนสามารถสอบถามการให้บริการได้ที่ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข

สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. ๐ ๒๒๔๘ ๗๔๑๗ , ๐ ๒๒๔๕ ๓๓๑๑

  1. พื้นที่พบสัตว์มีเชื้อพิษสุนัขบ้า จะดำเนินการอย่างเข้มข้นทั้งการจับสุนัขจรจัดที่มีความเสี่ยงไปกักสังเกตอาการและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

การควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง
เร่งรัดและติดตามกรณีผู้ป่วยไม่มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแผนการรักษาของแพทย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน