เมื่อเย็นวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้นำคณะไปร่วมกันต้อนรับและแสดงความยินดีกับทีมนักศึกษา มจพ. ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Sechzig (ไอราฟ เซคซิก) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเดินทางกลับหลังจากสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันและประเทศไทยด้วยการคว้ารางวัลรองชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก และรางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก (Best in Class Mobility) จากการแข่งขัน “World Robocup Rescue 2019” ระหว่างวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2562 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ผศ.ชัชชัย เสริมพงษ์พันธุ์ อาจารย์ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์ กล่าวถึงการแข่งขันในครั้งนี้ว่ามีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน 14 ทีม 8 ประเทศ อาทิ อเมริกา เยอรมัน ญึ่ปุ่น แคนาดา จีน อิหร่าน เม็กซิโก และไทย แบ่งเป็นรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศ รอบคัดเลือกได้มีการแข่งขันแบบเก็บคะแนนวันละ 6 ด่าน โดยทำการเลือกด่านการแข่งขันจากการทดสอบการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง 6 ด่านย่อย (Maneuvering), การทดสอบสมรรถนะของหุ่นยนต์ 5 ด่านย่อย (Mobility), การทดสอบการทำงานของแขนกล 5 ด่านย่อย (Dexterity) และการทดสอบการวาดแผนที่อัตโนมัติและการทำงานอัตโนมัติของหุ่นยนต์ (Exploration) ทั้งนี้ การคัดเลือกทีมเข้ารอบจะรวมคะแนนจาก 5 ด่านของ Maneuvering และ 5 ด่านของอีก 3 ลักษณะที่เหลือ อีกทั้งยังเก็บคะแนนสำหรับรางวัลพิเศษ Best in Class

“ในการแข่งขันรอบคัดเลือกวันสุดท้าย น้องๆ ทีม iRAP Sechzig มั่นใจแล้วว่าสามารถทำคะแนนผ่านเข้ารอบได้อย่างแน่นอน รวมถึงยังมีลุ้นรางวัลพิเศษ Best in Class Mobility โดยผลปรากฎว่าทีมไทยที่มีคะแนนใกล้เคียงกับทีมญี่ปุ่นสามารถเอาชนะไปได้จากการที่แขนกลของทีมญี่ปุ่นหักและซ่อมไม่เสร็จทันการแข่งขันด่านกรวดและทรายซึ่งเป็นด่านที่ตัดสินการได้รางวัลพิเศษ ส่งผลให้ทีมไทยผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้เป็นอันดับหนึ่งรวมได้ถึงรางวัล Best in Class Mobility มาครองอีกสมัย สำหรับรอบชิงชนะเลิศนั้นแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ด่านเพื่อทดสอบความสามารถของหุ่นยนต์ด้านการเคลื่อนที่ การใช้งานแขนกล และการสร้างแผนที่อัตโนมัติ ซึ่งทีม iRAP Sechzig แม้จะวางแผนและเตรียมโปรแกรมการทำงานมาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติได้อย่างเต็มรูปแบบจากข้อจำกัดบางประการ ทำให้ทีมไทยได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี กล่าวอย่างยินดีว่า การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ มจพ.ให้ความสำคัญ โดยเป็นแชมป์ 8 สมัย และรองแชมป์อีก 3 สมัย ได้รับอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 11 จากการที่บุคลากรทั้งคณาจารย์และนักศึกษาได้สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันด้วยรางวัลดังกล่าว พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความพร้อมและสามารถบูรณาการระหว่างนักศึกษาตามคณะและส่วนงานต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่ทำงานร่วมกัน สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลกในทุกๆ ปีจะมีการปรับเปลี่ยนกติกาทุกครั้ง ซึ่งทางทีมทั้งนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้มีการซักซ้อมและเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนที่จะเดินทาง ระหว่างที่แข่งขันก็มีการ ประชุมหารือในทุกๆ วัน

“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีพันธกิจในการที่จะผลิตบัณฑิตที่คิดเป็นทำเป็น เพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งคลัสเตอร์โรบอทถือเป็นคลัสเตอร์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นว่าทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนและบุคลากรที่จะไปพัฒนาทางด้านหุ่นยนต์หรือ AI นั้นมีความพร้อม ที่สำคัญสถาบันยังมุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมามีการผลิตหุ่นยนต์มูลค่าถึง 10 ล้านบาทเพื่อมอบให้กองทัพบกได้ใช้งานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงหุ่นยนต์ที่ไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีหุ่นยนต์ที่ผลิตเพื่อป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่อย่าง ปตท. และเอสซีจีอีกด้วย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน