สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จัดกิจกรรมเสวนา ที่เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในหัวข้อ “ความเชื่อในชีวิตประจำวัน…กับความจริงทางวิทยาศาสตร์” โดยมี ดร.กนกพร บุญศิริชัย หัวหน้าฝ่ายวิจัยนิวเคลียร์ สทน. นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา นายแพทย์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นายชินพรรธน์ กิติชัยวรางค์กูร นักแสดง มีนายชัยนนท์ จันทร์เต็ม เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.กนกพร บุญศิริชัย หัวหน้าฝ้ายวิจัยนิวเคลียร์ สทน. กล่าวว่า ในชีวิตประจำวันของเราได้ยินสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหลายอย่าง เช่น หมอนยางพารา การ์ดพลังงาน และเหรียญควอนตัม ทั้งสามชนิดเคยมีคนส่งมาให้ สทน. ตรวจสอบก็ปรากฏว่ามีรังสี อย่างในกรณีของหมอนยางพารา ไม่ใช่ว่าหมอนยางพาราทุกชนิดจะมีรังสี แต่เป็นเพียงบางยี่ห้อเท่านั้นที่ผู้ประกอบการนำแร่กัมมันตรังสีผสมเข้าไปในปริมาณเล็กน้อย ด้วยความเชื่อว่าเมื่อมีการแผ่รังสีออกมาจะทำให้ผู้ใช้นอนหลับสบาย แต่ในความเป็นจริงคือมีการตรวจพบแร่ยูเรเนียม ทอเรียม เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซเรดอนออกมาที่เกาหลีที่เขาตรวจพบและเป็นข่าว เขาพบตั้ง 1,400 เบคเคอเรล/กิโลกรัม เขาบอกว่ามันสูงว่าปริมาณที่เขากำหนดไว้ถึง 9 เท่า เขาวิเคราะห์ปริมาณรังสีของคนที่ใช้หมอนเป็นประจำจะได้รับจากก๊าซเรดอนประมาณ 4 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 4 เท่า และก๊าซเรดอนเวลาเข้าไปในร่างกายมันจะเข้าทางจมูก หายใจเข้าไปมันก็ไปอยู่ที่ปอด ก๊าซเรดอนจะแผ่รังสีอัลฟาทำให้เนื้อเยื่อปอดเรามีปัญหา ปริมาณรังสีที่ได้รับตรงนี้มันไม่ได้ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยเฉียบพลันที่จะเห็นได้ทันที แต่ว่ามันก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เราเจ็บป่วยในอนาคต โดยเฉพาะรังสีอัลฟาถ้าไปแผ่รังสีในปอดก็จะทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ในอนาคต

สำหรับเหรียญควอนตัม ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วควอนตัมเป็นก้อนพลังงาน เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่เหรียญควอนตัมตามที่เขาโฆษณา เขาไม่ได้อ้างอิงกับควอนตัมทางวิทยาศาสตร์ เขาไปอ้างถึงเรื่องพลังงานสเกลาร์ แต่ในศัพท์วิทยาศาสตร์ทางนิวเคลียร์ไม่มีคำว่า พลังงานสเกลาร์ แต่ข้อมูลที่หาได้จากอินเตอร์เน็ต ตามความเชื่อเขาบอกว่า สเกลาร์เป็นพลังงานตามธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ได้ด้วยวิธีการบางอย่าง แต่ความเป็นจริงก็คือ คือในเหรียญควอนตัมก็จะมีการผสมเอาแร่กัมมันตรังสีเข้าไปอยู่ข้างใน เราก็เคยตรวจพิสูจน์แล้วก็มีรายงานจากต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ตรวจพบส่วนผสมของยูเรเนียม ทอเรียม ในสัดส่วนน้อยกว่าในหมอนยางพารา จากการตรวจสอบของ สทน.เมื่อตรวจภายนอกจะพบรังสีเบตาและแกมมา แม้อำนาจการทะลุทะลวงจะไม่มากแต่ถ้าเราแขวนบริเวณหน้าอก ก็ทำให้ผิวหนังเราบริเวณหน้าอกได้รับรังสีจากเหรียญ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บป่วยแบบฉับพลัน แต่สวมใส่ไว้ตลอดเวลาหรือยาวนานก็จะทำให้ได้รับรังสีสะสม ในแง่ผู้ปฏิบัติงานเราก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงรังสีให้น้อยที่สุด เนื่องจากว่าการที่เราได้รับรังสีในปริมาณน้อยสะสมก็จะทำให้ได้รับความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งได้ ตรงนี้เป็นข้อควรระวังในการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้

ส่วนเรื่องการ์ดพลังงานในแง่วิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกับเหรียญควอนตัมที่มีการผสมแร่กัมมันตรังสีโดยบรรจุอยู่ภายในแผ่นการ์ดเพราะฉะนั้นเวลาที่เราเอาการ์ดแปะ จะได้รับพลังงานที่แผ่ออกมาแต่ว่าเราไม่ได้ปนเปื้อนรังสี แต่ถ้าเกิดการแตกหักมันอาจจะมีการปนเปื้อน แล้วถ้าเราเอามือไปจับที่เหรียญหรือการ์ดแล้วไปจับอาหารแร่หลุดติดกับอาหารเข้าปากไปมันก็อาจจะเป็นการนำสารรังสีเข้าสู่ร่างกายได้ เพราะฉะนั้นในกรณีที่เอาการ์ดพลังงานไปจุ่มในน้ำ การ์ดก็จะแผ่พลังงานมาเฉยๆ แต่ไม่ได้มีรังสีเล็ดรอดออกมา นอกจากการ์ดจะชำรุด เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเปื้อนกัมมันตรังสี นอกจากมันจะเกิดการแตกหัก

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคลซึ่งเราไม่สามารถไปห้ามได้ แต่ในแง่ของสถาบัน ฯ เราก็มีหน้าที่ให้ข้อมูลความรู้ในแง่ของข้อเท็จจริง อะไรคือความจริง อะไรคือความเชื่อ

ในแง่ของกฎหมาย จะมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะเป็นผู้คุมกฎจะคอยดูแลจัดการตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ในกรณีของวัสดุผลิตภัณฑ์ที่เราพูดถึง อะไรก็ตามที่มียูเรเนียม ทอเรียม เป็นองค์ประกอบหรือมีสารกัมมันตรังสีเป็นองค์ประกอบ ตามกฎหมายจะต้องขออนุญาตมีไว้ในครอบครอง เพราะฉะนั้นไปสั่งซื้อกันมา แม้แต่นำเข้าส่งออกก็ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย

ด้านนพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา กล่าวว่า มองในแง่ของคนที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลมันไม่ได้มีแค่เรื่องของการ์ด ตั้งแต่เรียนเป็นนักเรียนแพทย์ที่จุฬาฯ จนจบมา โดยเฉพาะโรคมะเร็งจะมีพวกอะไรที่เกี่ยวกับความเชื่อ ไม่อยากจะใช้คำว่าหลอกลวง แต่เป็นการรักษาที่ไม่ได้ผล มีราคาสูง จ่ายเงินไปไม่ได้ประโยชน์ บางครั้งเสียโอกาสในการรักษาด้วย บางครั้งเลวร้ายกว่าคือมีโทษ พวกนี้มีตลอดเวลา เป็นความเชื่อหรือการรักษาที่พิสูจน์ไม่ได้ ต้องใช้คำว่าไม่มีข้อมูลยืนยันที่มันได้ประโยชน์ เรื่องพวกนี้เราอธิบายด้วยเหตุผล แต่ความเชื่อมันเป็นเรื่องทางด้านอารมณ์ทางด้านศรัทธา เหมือนคนจะจมน้ำใครโยนฟางให้เขาเส้นหนึ่งเขาคว้าหมด เรื่องแบบนี้ที่อเมริกาที่อังกฤษก็มี แต่ที่เมืองไทยสูงกว่า ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นที่ความรู้ วิทยาศาสตร์พื้นฐานในเมืองไทยอาจจะไม่เท่าต่างประเทศ ก็ต้องให้ความรู้เพิ่มเติมกันต่อไปในเรื่องนี้

ดร.กนกพร บุญศิริชัย หัวหน้าฝ้ายวิจัยนิวเคลียร์ สทน.กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ามีปัญหาจากเรื่องดังกล่าวสามารถสอบถามไปที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เข้าไปดูข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.tint.or.th


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน