เพียงแค่ครึ่งเดือนธันวาคม ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศจากดื่มแล้วขับก็มากถึง 621 ราย บาดเจ็บอีกเกือบสี่หมื่นราย (อ้างอิงข้อมูลจากมูลนิธิเมาไม่ขับ https://www.ddd.or.th/StatisticsOfDeathAndInjuries) ลองคิดดูว่า กว่าจะผ่านช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ที่คนมากมายออกมาเฉลิมฉลอง ตัวเลขเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

ทั้งที่เสี่ยงขนาดนี้ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากยังรู้สึกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเรื่องไกลตัว มักคิดว่า ตัวเองเอาอยู่ แต่นั่นอาจเป็นเพราะ พวกเขาเหล่านี้ยังไม่รู้ว่ามี 5 ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ และจะทำให้เข็ดจากการดื่มแล้วขับไปเลย มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

ดื่มน้อยนิดโทษมหาศาล

รู้ไหม การดื่มแล้วขับจะทำให้คุณเจอปัญหาตามมามากมาย เพราะพรบ.จราจรทางบกกำหนดไว้ว่า หากผู้ขับขี่ถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่า กระทำผิดฐานขับรถขณะมึนเมา มีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท โทษจำสูงสุด 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และการดื่มให้เกินกำหนดนี้ก็ง่ายดายมาก เพียงแค่เบียร์ 2 กระป๋อง ถ้าขับมาเจอด่าน ก็อย่าหวังว่าจะรอด

ไม่เป่าเท่ากับดื่มแล้วขับ

หลายคนพอดื่มมาแล้วเจอด่าน พยายามเอาตัวรอดด้วยวิธีสารพัด ทั้งถ่วงเวลาไม่ยอมเป่า กินน้ำเยอะๆ หรือกินนมเปรี้ยว เพราะคิดว่าจะช่วย ซึ่งไม่ว่าทางไหนก็รอดยาก เพราะพรบ.จราจรทางบอกได้กำหนดไว้เช่นกันว่า ผู้ขับขี่ที่ไม่ยอมรับการตรวจ ให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ดื่มแล้วขับ สามารถดำเนินคดีได้ทันที

ดื่มแล้วขับ ถูกจับ เสียเงินประกัน 20,000 บาท

ถ้าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คุณจะพูดส่งตัวไปคุมขังที่สถานีตำรวจของเขตนั้นๆ เพื่อรอการส่งฟ้องศาลภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งถ้าคุณต้องการอิสรภาพก็ต้องใช้เงินประกันสูงถึง 20,000 บาท แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องนอนคุกอย่างเดียว และขอเตือนอีกนิด ถ้าคุณออกไปดื่มแล้วขับในคืนวันเสาร์ คุณอาจต้องนอนคุกเพิ่มอีก 1 คืน เพราะต้องรอศาลดำเนินการในเช้าวันจันทร์

ดื่มแล้วขับ ไม่ได้ถึงบ้านง่ายๆ

คดีดื่มแล้วขับเมื่อถึงศาล ไม่ได้มีเพียงแค่โทษจำและโทษปรับ แต่ผู้ต้องหาอาจโดนศาลสั่งให้ไปบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ และต้องไปรายงานตัวกับกรมควบคุมความประพฤติถึงปีละ 4 ครั้ง นอกจากนี้ในกรณีไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็จะต้องได้รับโทษจำชดเชยแทน โดยคำนวณโทษจำ 1 วันเท่ากับโทษปรับ 500 บาท ซึ่งหมายความว่า ในกรณีนี้ผู้ต้องหาอาจได้รับโทษจำสูงสุดถึง 40 วัน (เงินค่าปรับสูงสุด 20,000 บาท)

ดื่มแล้วขับ พร้อมไหมกับโทษจำคุกถึง 10 ปี

การดื่มแล้วขับไม่ใช่ปัญหาของคุณคนเดียว เพราะแอลกอฮอล์มีผลต่อสมองทำให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมทั้งความคิด และร่างกาย ดังนั้นเมื่อดื่มแล้วไปขับขี่ ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และหากอุบัติเหตุนั้นมีคู่กรณีด้วย โทษทางกฎหมายก็จะมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งพิจารณาจาก คู่กรณีได้รับบาดเจ็บทางกายและใจ คู่กรณีบาดเจ็บสาหัส หรือคู่กรณีเสียชีวิต ซึ่งผู้ต้องหาจากดื่มแล้วขับจะได้รับโทษปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท โทษจำสูงสุด 10 ปีเลยทีเดียว

ใครๆ ก็อยากเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสิ่งดีๆ ซึ่งทุกคนทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ดื่มไม่ขับ เท่านี้ก็เหมือนกับคุณไม่สร้างปัญหาให้กับตัวเอง และคนอื่น ถือเป็นการเริ่มต้นปีที่เป็นมงคลที่สุด และที่สำคัญจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการหยุดสถิติอุบัติเหตุให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับสังคมไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน