สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงานแถลงความสำเร็จการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ปี 2563 พร้อมมอบรางวัลสุดยอดสหกรณ์ COOP SELECT 4.0 ณ ไอคอนสยาม

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึง 5 สหกรณ์ดีเด่น ที่ได้รางวัลสุดยอด COOP Select 4.0 ว่า ทั้ง 5 สหกรณ์ดีเด่นได้ผ่านการคัดเลือกจาก 100 สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ และพร้อมเดินหน้าสู่กระบวนการต่อยอดการพัฒนาสหกรณ์ในทุกมิติ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ สำหรับรูปแบบการดำเนินงานของโครงการคือ การจัดอบรมความรู้และเตรียมความพร้อมการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ยุค 4.0 ให้แก่สหกรณ์กว่า 200 แห่งทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา ปรับเปลี่ยนสหกรณ์เข้าสู่ยุค 4.0

“องค์ความรู้ที่ได้จัดเตรียมให้กับสหกรณ์ประกอบด้วย การตลาดดิจิทัล การสร้างโมเดลธุรกิจยุคใหม่ การเพิ่มมูลค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างเครือข่าย และขับเคลื่อนด้วยแบรนด์ไทย โดยทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึก และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาสหกรณ์ยุค 4.0 จนได้สหกรณ์ที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 100 แห่ง เข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ และคัดเลือก 50 แห่ง ที่จะมีโอกาสเข้าค่าย เพื่อศึกษาดูงานจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การพัฒนาโมเดลธุรกิจ การสร้างเครือข่าย และเข้าสู่การ Pitching เพื่อค้นหา 5 สหกรณ์โดดเด่นเข้ารับรางวัล COOP Select 4.0” นายวีระพงศ์ กล่าวและว่า โครงการนี้เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สสว. กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (ทีเส็บ) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของไทย

นอกจากนี้ สสว. ยังเปิดโอกาสให้สหกรณ์ที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 50 ราย มาจำหน่ายสินค้าเพื่อทดสอบตลาด และเปิดโอกาสให้ผู้ขายได้พบผู้ซื้อภายใต้แนวคิด COOP Market 40 โดยจัดงานจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ ในวันที่ 14-16 กันยายน 2563 ณ ลานสุขสยาม ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ

สำหรับรายชื่อ 5 สหกรณ์ดีเด่นที่ได้รางวัล รางวัลสุดยอด COOP Select 4.0 ได้แก่
สหกรณ์วัดจันทร์ จำกัด จ.พิษณุโลก ต้นแบบสหกรณ์ที่ประยุกต์ประสบการณ์การดำเนินการกว่า 100 ปี เป็นโมเดลศูนย์เรียนรู้

ดร.กัญญา งามสงวน ผู้จัดการสหกรณ์วัดจันทร์ จำกัด สหกรณ์แห่งแรกของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์วัดจันทร์ ซึ่งเป็นสหกรณ์แห่งแรกของไทยมีมา 104 ปีแล้ว ทางสหกรณ์ฯ จึงได้ทำ Virtual Reality (VR) เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สหกรณ์ เป็นการนำเสนอโมเดลธุรกิจชื่อว่า สหกรณ์วัดจันทร์ 4.0 ซึ่งเป็นการนำ VR มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพองค์ความรู้ของสหกรณ์ที่มีอยู่ พิพิธภัณฑ์สหกรณ์ และเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกสหกรณ์ให้มีความสะดวกรวดเร็ว ทั้งยังมีโครงการจะเปิดตลาดนัดวัดจันทร์ออนไลน์ให้บรรดาสมาชิกสหกรณ์สามารถมาฝากร้าน ขายสินค้าออนไลน์ได้อีกด้วย

สหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด จ.อุทัยธานี ต้นแบบการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จาก “โกโก้” พืชเศรษฐกิจใหม่


นางพนาพร ปิตปสกุลสวัสดิ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด กล่าวว่า ทางสหกรณ์ฯ มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล อย่างโกโก้ฮันนี่บอล โดยทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย ผงโกโก้ น้ำผึ้งที่สมาชิกปลูก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 3 อย่าง มิกซ์ด้วยกัน อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์คือ การนำสับปะรดอบน้ำผึ้งมาผสมเนยใส่โกโก้เป็นช็อกโกแลต สมัยก่อนสหกรณ์ฯ ขายแค่เมล็ดโกโก้ ผงโกโก้ แต่ได้รับคำแนะนำจากทาง สสว. มาช่วยต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้ง 2 ตัวนี้ ใช้เวลา 3 เดือนในการพัฒนา และหลังจากนี้่ทางสหกรณ์จะทำการต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่อไปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด จ.นครปฐม ต้นแบบสหกรณ์ที่พัฒนาโมเดลธุรกิจที่หลากหลายสอดคล้องกับยุค 4.0
นายสิทธิพร บุรณนัฏ ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ของทางสหกรณ์ฯว่า จุดเด่นของสหกรณ์ฯ คือ เนื้อวัวพรีเมียมไขมันแทรกสูง และไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังใส่ใจเรื่องการเลือกตลาด รวมทั้งทำร้านอาหารอีก 13 สาขา ในอนาคตก็จะมีตู้ Vending Machine จำหน่ายเนื้อวัวอีกด้วย นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ฯ ยังพัฒนามาใช้ Skin pack เพื่อยืดอายุสินค้าให้นานขึ้นได้มากถึง 21 วัน โดยเป็นแพคเกจจิ้งที่ใช้สูญญากาศรัดเนื้อวัวติดไปกับถาด ซึ่งทาง สสว. ได้เข้ามาแนะนำสิ่งต่าง ๆ พร้อมกับการให้เชื่อมเครือข่ายกับสหกรณ์อื่น ๆ เช่น สหกรณ์ที่ทำพริกไทยหรือสหกรณ์ที่ทำดอกเกลือ ทำให้สหกรณ์ฯ แต่ละแห่งได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของกันและกัน

สหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด จ.เชียงใหม่ ต้นแบบสหกรณ์ที่ชูเอกลักษณ์ท้องถิ่น ใช้ทุนวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
นายภาณุษิต ปันป้อม ประธานคณะกรรมการสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางสหกรณ์ฯ ได้ทำนมพาสเจอร์ไรส์ และนมยูเอชที รวมทั้งมีนมที่ได้รับมาตรฐานรับรองจากกรมปศุสัตว์ เรียกว่า นมหน้าฟาร์ม ตัวนี้เป็นนมคุณภาพชั้นสูง และแม้จะทำนมมาหลายแบบแล้ว แต่ตลาดก็ยังรู้จักเราไม่มาก สสว. จึงได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการแนะนำอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาให้คำปรึกษา เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์
“อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แนะนำว่า นอกจากขายปกติแล้ว ควรมีเรื่องราวเข้าไปด้วย แค่ใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเป็น พานาคอตตากลิ่นกุหลาบเวียงพิงค์ ข้างบนเป็นเม็ดป๊อบ แล้วข้างล่างเป็นกลิ่นกุหลาบเวียงพิงค์ ตอนนี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์พานาคอตตาให้อยู่ได้นานขึ้น เพื่อให้เป็นผลดีต่อการกระจายสินค้าต่อไป” นายภาณุษิต กล่าว

สหกรณ์การเกษตรปะเหลียน จำกัด จ.ตรัง ต้นแบบสหกรณ์ที่ใช้ทุนจากฐานชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
นายศักราช จำปา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปะเหลียน กล่าวว่า เมื่อก่อนสหกรณ์ฯ ได้ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากนั้นก็รวบรวมพริกไทย ใส่ขวดและใส่กล่องขาย ต่อมาพอได้เข้าร่วมโครงการ ได้รับคำแนะนำจากทาง สสว. ให้พัฒนาเป็นพริกไทยขวดบดได้ เพื่อง่ายต่อการปรุงอาหาร เหมาะกับแม่บ้านและร้านอาหาร หมดแล้วก็สามารถเติมได้ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นที่ต่อยอดมาจากคำแนะนำของทาง สสว. และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องดื่มพริกไทยหรือชาพริกไทย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยังได้ช่วยทำการวิจัยถึงสรรพคุณของพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน รวมถึงแนะนำเรื่องการตลาดให้ทางสหกรณ์ฯด้วย

ต้นแบบความสำเร็จจาก 5 สหกรณ์ดีเด่น ที่มุ่งมั่นในการต่อยอดความรู้อย่างไม่ย่อท้อ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับกลุ่มสหกรณ์อื่น ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับสหกรณ์ไทยให้เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน