ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตผลไม้เมืองร้อนรายสำคัญของโลก มีผลไม้นานาชนิด ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ส้ม มะละกอ ฝรั่ง เป็นต้น โดยผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี ผลผลิตนอกจากจะบริโภคในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ส่งผลให้ผลไม้บางชนิด ไทยได้กลายเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก อย่างเช่น ทุเรียนและมังคุด ทำให้ชื่อเสียงผลไม้ไทยเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

กรมการค้าภายใน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดผลไม้ ได้เตรียมแผนงาน และมาตรการดูแลราคาผลไม้เป็นการล่วงหน้า พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีการบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลไม้ไทยมีประโยชน์มากมาย นอกเหนือจากความอร่อย ยังมีคุณค่าทางโภชนการสูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ มีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย ช่วยบำบัดโรคบางอย่าง และยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้ที่มีวิตามินสูง อย่างส้มเขียวหวาน หรือฝรั่ง จะมีวิตามินซีมาก ช่วยป้องกันโรคหวัด , มังคุด มีโปรตีน ใยอาหาร แคลเซียม วิตามิน ฟอสฟอรัส ช่วยลดอาการท้องเสีย ลดความร้อนในร่างกาย , เงาะ มีวิตามินซีสูง เหล็ก ไนอะซิน แก้หวัด ท้องร่วง , ลำไย มีโปรตีน ใยอาหาร วิตามิน กรดอินทรีย์ ช่วยบำรุงผิวพรรณ หัวใจ ประสาท , ลิ้นจี่ มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ในอะซิน วิตามิน โปรตีน ช่วยบำรุงกระดูก ฟื้นระบบย่อยอาหาร แก้หวัด เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลไม้ไทยยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารคาว อาหารหวาน อบแห้ง หรือทำน้ำผลไม้ได้ เช่น มังคุดใส่ผัดเปรี้ยวหวาน มังคุดกวน ไวน์มังคุด น้ำมังคุด , เงาะใส่แกงเผ็ดเป็ดยาง เงาะกระป๋อง , ไก่ตุ๋นลำไย ข้าวเหนียวเปียกลำไย ไอศกรีมลำไย น้ำลำไย ลำไยกระป๋อง ลำไยตากแห้ง , เป็ดอบซอสลิ้นจี่ ข้าวผัดลิ้นจี่ ลิ้นจี่อบแห้ง น้ำลิ้นจี่

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ช่วงเดือนมี.ค.-ก.ย.ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ผลผลิตผลไม้ออกสู่ตลาด โดยเริ่มจากผลไม้ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งในปีนี้ กรมฯ ได้เตรียมมาตรการรับมือผลผลิตผลไม้ไว้ล่วงหน้า ทำให้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ไม่มีปัญหาด้านราคา แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การขนส่ง และโลจิสติกส์มีปัญหา โดยเฉพาะการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

โดยมาตรการที่กรมฯ ได้ดำเนินการรับมือผลผลิตผลไม้ เช่น ส่งเสริมการซื้อขายผ่านสัญญาข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กับผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า โรงงานแปรรูป รวม 54 สัญญา ปริมาณ 16,823 ตัน มูลค่า 763 ล้านบาท , เชื่อมโยงการซื้อขายผลไม้ผ่านห้างสรรพสินค้าและตลาดกลาง จำนวน 300 ตัน มูลค่าการจำหน่ายกว่า 12 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ได้จัดหากล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 2 แสนกล่อง เพื่อใช้สำหรับการบรรจุผลไม้ ทั้งการส่งทางไปรษณีย์และนำขึ้นเครื่องบิน รวมทั้งจำหน่ายผลไม้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Shopee , Lazada , Jatujakmall , Thailandpostmart.com และ Thaitrade.com พร้อมจัดอบรมให้ความรู้ในการจำหน่ายผลไม้ทางออนไลน์แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ ระหว่างผู้ประกอบการส่งออกลำไยไทยกับคู่ค้าต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย บังคลาเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาร์เรน ฝรั่งเศส รวมมูลค่าการซื้อขาย 5,373.45 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและกระตุ้นการบริโภค ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดเทศกาลอาหารถิ่น ผลไม้ไทยใจกลางเมือง Fruits in the city : The Locol To Town ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย.2563 โดยนำผลไม้สดจากเกษตรกร ส่งตรงถึงผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการโปรโมตผลไม้ไทย ในฐานะเป็นผลไม้ดีที่สุดในโลก และผลักดันให้ไทยเป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนของโลก รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้คนไทยบริโภคผลไม้เพิ่มมากขึ้น

ผลการจัดงานในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมการจัดงาน สามารถจำหน่ายผลไม้ได้เพิ่มขึ้น มีรายได้สูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภค มีความพึ่งพอใจ เพราะสามารถเลือกซื้อผลไม้ที่ส่งตรงมาจากสวนได้ในเกรดคุณภาพดี ราคาเหมาะสม

“กรมฯ จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้นต่อไป เพราะผลไม้ไทยมีดีหลายอย่าง ทั้งอร่อย มีประโยชน์ต่อร่างกาย และที่สำคัญ หากมีการจำหน่ายผลไม้ไทยได้เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีการเติบโตตามไปด้วย”นายวิชัยกล่าวสรุป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน