แผนฟื้นฟูทะเล ทส. เอสซีจี จุฬาฯ เผยความคืบหน้าพัฒนาปะการังเทียม ให้ตัวอ่อนเกาะ

แผนฟื้นฟูทะล– การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่รบกวนธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรทางทะเล รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง

การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและปะการังนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างลึกซึ้งและการบริหารจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงเกิดเป็นความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

เอสซีจี โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมกันนำเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาพัฒนากับวัสดุ Advanced Materials ขึ้นรูปการพิมพ์แบบ 3 มิติ เป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง สร้างต้นแบบที่มีความกลมกลืนเสมือนจริง ใกล้เคียงธรรมชาติ

ในโอกาสที่มีการจัดงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX 2020) ผู้จัดงานนำเรื่องการพัฒนารูปแบบวัสดุเพื่อใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาเป็นหัวข้อหนึ่งในการเสวนา

โดยมี นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผอ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ทช., รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ นายชนะ ภูมี Vice President จากเอสซีจี ร่วมเสวนาถึงความร่วมมือการพัฒนารูปแบบวัสดุที่ใช้ฟื้นฟูแนวปะการัง

นายอุกกฤต กล่าวว่า การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลเป็นภารกิจหลักของ ทช. ที่ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ทะเลมีพื้นที่กว้างใหญ่จึงต้องร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร เครือข่ายประชาชน เพื่อช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์โดยดำเนินการฟื้นฟูปะการังอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาวัสดุในรูปแบบปะการังเทียม

แต่รูปแบบที่ดำเนินการยังไม่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และยังคงต้องปรับรูปแบบปะการังเทียมให้มีประสิทธิผลสำหรับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง

ทช.จึงได้ร่วมมือกับเอสซีจี และจุฬาฯ ในการจัดทำโครงการพัฒนารูปแบบฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ที่มีรูปทรงคล้ายคลึงปะการังธรรมชาติ และมีความเหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และการศึกษาเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวว่า ปะการังเทียมที่มีในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาอย่างแน่ชัดว่าแบบใดเหมาะสม ช่วยฟื้นฟูปะการังได้เห็นผลจริงอย่างยั่งยืน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงพัฒนารูปแบบของวัสดุลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ในชื่อว่า “นวัตปะการัง” ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing ขึ้นรูปวัสดุได้เสมือนจริง และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในท้องทะเลเป็นอย่างมาก พร้อมด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาข้อมูล วิจัย ออกแบบ และสำรวจพื้นที่

หลังได้วัสดุที่ผลิตจาก 3D Cement Printing จากเอสซีจี ทีมงานทดสอบประเมินผลหลายด้าน เช่น การทดสอบการต้านกระแสน้ำ การจมตัว การทดสอบการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ความคุ้นเคยของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น หลังจากทดลองนำไปวางจริงและติดตามประเมินผลผลลัพธ์น่าพอใจ

นอกจากนี้ ยังมองไปถึงอนาคตในการพัฒนารูปแบบปะการังเทียมเหล่านี้ให้มีประโยชน์มากขึ้น เช่น สามารถใช้ติดทุ่นเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำของ ทช. ซึ่งปกติต้องติดทุ่นที่ปะการังธรรมชาติ หากทำได้ก็จะลดผลกระทบและการรบกวนปะการังธรรมชาติได้อย่างมาก

ด้านนายชนะ กล่าวว่าความร่วมมือระหว่างเอสซีจี ทช. และจุฬาฯ ครั้งนี้ เอสซีจีเอาเทคโนโลยีการขึ้นรูป 3D Cement Printing ร่วมกับการพัฒนาสูตรปูนซีเมนต์ขึ้นเองที่มาจากเศษคอนกรีตจากการรื้อถอนอาคารเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูน ด้วยวิธีฉีดขึ้นรูปเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังธรรมชาติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และกลมกลืนกับธรรมชาติ

ทั้งสามฝ่ายได้ร่วมกันศึกษาทดลอง ปรับปรุงพัฒนาการออกแบบการขึ้นชิ้นงาน เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะใช้เป็นต้นแบบอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทย คืนความสมบูรณ์ให้แหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์ทะเล หรือต่อยอดแนวคิดการพัฒนาเป็นแหล่งปะการังทดแทนสำหรับการท่องเที่ยว ลดการรบกวนปะการังธรรมชาติให้มากที่สุด

หากองค์กรใดสนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับเอสซีจีในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล สามารถเข้าร่วมสนับสนุน ศึกษา ต่อยอด เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลของไทยกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

หรรษา – ชมทะเลหมอก กินติ่มซำเบตง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน