เชื่อว่านักเขียนนิยายหลายๆ คน มักจะเคยเกิดอาการ “ออกทะเล” ขณะเขียนนิยาย เพราะเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่หลายๆ ครั้ง เมื่อกำลังเขียนนิยายแล้วสมองเราเกิดปิ๊งไอเดียสุดบรรเจิด อยากเพิ่มอะไรบางอย่างลงไปในนิยายของเรา อันนั้นก็ดี อันนี้ก็เข้าท่า รู้ตัวอีกทีออกทะเลไปไกลซะแล้ว หรือสำหรับนักเขียนนิยายบางคนที่ไม่ออกทะเล แต่ดันไปเจออาการ “สมองตัน” เขียนๆ อยู่แล้วสมองเจ้ากรรมดันงอแง หมดไอเดีย ไม่รู้จะเขียนต่อยังไงดี นับเป็นสองอาการไม้เบื่อไม้เมาที่นักเขียนทุกคนล้วนเคยเจอ และภาวนาอย่าให้เจออาการเหล่านี้ขณะกำลังเขียนนิยายซะดีกว่า เพราะทั้งเสียเวลาและเสียอารมณ์เป็นอย่างมาก แต่ยังมีหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันอาการ “ออกทะเล” และอาการ “สมองตัน” ขณะเขียนนิยายที่ได้ผลอย่างมากนั่นก็คือ การเขียนทรีตเมนต์

ถ้าใช้ภาษาง่ายๆ ในการอธิบาย ทรีตเมนต์คือเรื่องย่ออย่างละเอียด ที่ใช้เป็นหลักในการเขียนให้นักเขียนทำงานได้ง่ายขึ้น โดยนิยมเขียนเรียงลำดับตามเส้นเรื่องของนิยายตั้งแต่ต้นจนจบ และสามารถใส่รายละเอียดยิบย่อยลงไปในทรีตเมนต์ได้ด้วย ซึ่งนักเขียนนิยายสามารถเลือกที่จะเขียนทรีตเมนต์เป็นฉากๆ ตามเส้นเรื่อง หรือเขียนทรีตเมนต์แยกเป็นตอนๆ ไป ตามความถนัด

ทรีตเมนต์แตกต่างจากพล็อตยังไง? ข้อแตกต่างสำคัญเลยคือรายละเอียด พล็อตจะเป็นการเล่าเรื่องราวรวมๆ แบบย่อ โดยจะเล่าถึงแค่ใจความของเรื่อง เป้าหมาย ไล่ไปจนถึงบทสรุปโดยไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากนัก แต่ทรีตเมนต์จะใส่รายละเอียดสำคัญมากกว่าแค่เล่าเรื่อง เช่น ในฉากนั้นๆ ตัวละครมีแรงจูงใจอะไร และเมื่อทำอะไรบางอย่างลงไปแล้วเกิดผลลัพธ์ยังไง ส่งผลต่อเรื่องยังไง และยังสามารถใส่ประโยคสำคัญที่นักเขียนต้องการเน้นในฉากหรือตอนนั้นๆ ได้อีกด้วย

แล้วควรจะเขียนอะไรดีระหว่างพล็อตเรื่องกับทรีตเมนต์? นักเขียนมืออาชีพหลายๆ คนมักจะเขียนทั้งสองอย่างควบคู่กันไป ถ้าเปรียบการเขียนนิยายเป็นการผจญภัยในถ้ำมืด พล็อตเรื่องก็เปรียบเหมือนแผนที่ นักเขียนควรจะวางเรื่องราวเอาไว้คร่าวๆ ให้ตนเองเห็นภาพกว้างๆ ว่าเรื่องราวของนิยายจะเป็นไปในทิศทางไหน ส่วนทรีตเมนต์ก็เปรียบเป็นไฟฉายไว้ใช้นำทางนักเขียนให้ไม่หลงและสามารถไปยังปลายทางที่วางไว้ การมีทั้งทรีตเมนต์ทั้งพล็อตเรื่องจะสามารถการันตีได้เลยว่าจะไม่เกิดอาการสมองตันและออกทะเลอย่างแน่นอน

หากอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้วหลายๆ คนน่าจะเข้าใจการเขียนทรีตเมนต์มากขึ้นและอยากจะเริ่มเขียนทรีตเมนต์ของตัวเอง แต่ถ้ายังจับต้นชนปลายไม่ถูก ต่อไปนี้คือเทคนิคที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ และจะทำให้เริ่มเขียนทรีตเมนต์ได้ง่ายขึ้น

  1. เขียนพล็อตเรื่องคร่าวๆ ให้จบก่อน เพราะนักเขียนควรจะรู้ว่านิยายที่ต้องการจะเขียนมีเส้นเรื่องแบบไหน เริ่มยังไง ระหว่างทางเกิดอะไรขึ้น และบทสรุปเป็นอย่างไร เมื่อวางพล็อตหลักไว้แน่นแล้ว การลงรายละเอียดในทรีตเมนต์จะทำได้ง่ายและเร็วขึ้น
  2. ทำแผนผังความสัมพันธ์ของตัวละคร ในขั้นตอนนี้แนะนำให้วาดลงไปบนกระดาษหรืออุปกรณ์ที่ถนัด แล้วใช้ปากกาสีลากเส้นเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวให้ชัดเจนว่าแต่ละตัวละครมีความรู้สึกต่อกันอย่างไร และยังสามารถบรรยายบุคลิกและรูปร่างหน้าตาตัวละครลงไปเพื่อใช้เป็นจุดหมายในการเขียนในอนาคตได้อีกด้วย เป็นการทำความรู้จักตัวละครแต่ละตัวให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
  3. วาง Conflict หรือจุดขัดแย้งของเรื่องว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน เมื่อนักเขียนรู้ว่าเหตุการณ์สำคัญในเรื่องคืออะไรบ้าง ก็จะสามารถวางแผนการเขียนเพื่อดึงอารมณ์นักอ่านได้ง่ายขึ้น เมื่อจบเหตุการณ์ A ในบทนี้ บทถัดไปจะพาไปสู่เหตุการณ์ B นักเขียนสามารถเล่นกับความรู้สึกอยากรู้ของนักอ่านจนทำให้อยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ ไม่อยากวางนั่นเอง

การเขียนทรีตเมนต์จึงช่วยให้นักเขียนชัดเจนกับนิยายมากขึ้นและไม่หลงทางจนออกทะเลหรือเกิดอาการสมองตันระหว่างทาง แม้จะใช้เวลานานกว่าการเขียนนิยายแบบด้นสด แต่นิยายที่วางแผนมาอย่างดี และทำให้นักอ่านได้ผจญภัยไปกับปมของเรื่องที่วางมาอย่างดีนั้น นักอ่านที่ไหนจะไม่ตกหลุมรักล่ะ ถ้าลงมือเขียนทรีตเมนต์และพร้อมที่จะปล่อยนิยายของคุณไปสู่สายตานักอ่านแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าจะไปโพสต์ที่ไหน เว็บไซต์กวีบุ๊คก็เป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ ที่มีนักอ่านแวะเวียนกันมาอ่านนิยายไม่ขาดสาย และพร้อมให้พื้นที่สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ได้แสดงฝีมือเสมอ อยากลองเขียนนิยายกับกวีบุ๊คแล้วใช่ไหม? คลิกเลย https://www.kawebook.com/เขียนนิยาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน