ในยุคที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันสูงขึ้นทวีคูณ ต่างคนต่างก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดให้ได้ “อุตสาหกรรมก่อสร้าง” เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว จากปริมาณงานที่ลดลง ต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องทำงานหนักขึ้น พัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพตลอดเวลา เพราะปัจจุบันการแข่งขันไม่ได้อยู่ที่เรื่องราคา หรือปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพ ใครที่ให้ความสำคัญและให้น้ำหนัก ก็มีโอกาสก้าวผ่านไปได้

เทคโนโลยี ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ นำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แก้ไขปัญหาแรงงาน ลดต้นทุนการดำเนินงาน อำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงเพิ่มความรวดเร็ว ทั้งฝั่งลูกค้าและผู้ประกอบการ ที่สำคัญคือเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน วันนี้จึงพามาทำความรู้จักกับ 3 ธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง ว่าแต่ละธุรกิจได้นำเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างไรบ้าง

ชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้นำการผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) จากที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานกว่า 10 ปี และศึกษางานด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างไปมาตลอด เห็นว่าในอนาคตต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมก่อสร้างใหม่ๆเข้ามาแทนแรงงานคนแน่นอน เพราะนับวันแรงงานยิ่งหายาก และค่าแรงยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่คุณภาพต่ำลง จึงได้หันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังนานกว่า 2 ปี จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่จะผลิตผนังคอนกรีตสำเร็จรูปโดย Precast ของ CPANEL ผลิตด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตระบบ Fully Automatic ของ Vollert Anlagenbau Gmbh ประเทศเยอรมันนี ที่ทันสมัยและได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ ซึ่งตัวเครื่องจักรเองมีศักยภาพภาพอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างระหว่างการออกแบบ การผลิต และการทำงานหน้างาน

“ผมใช้เวลา 2 ปีในการนำดีไซน์เนอร์ โปรแกรมเมอร์เก่งๆ มาช่วยกันพัฒนาให้ทุกอย่างมารวมให้ซอฟแวร์ทุกตัวทำงานร่วมกัน ทำให้ขั้นตอนการผลิตแม่นยำ รวดเร็ว ปราศจาก Human Error เพราะใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเกือบทั้งหมด และดูแลการผลิตอย่างเข้มงวดจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในทุกขั้นตอน โดยมีเป้าหมายที่ทำให้ระยะเวลาการพัฒนาสินค้าของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สู่ตลาดนั้นสั้นที่สุด ในต้นทุนที่ดีที่สุด และเพื่อให้บ้านที่มีคุณภาพที่สุด”

สมัยก่อนลูกค้ากลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ จะเข้าใจว่า Precast มีกระบวนการที่ยาก ใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน กว่าจะได้บ้านหลังแรก หลังจากที่เปิดโรงงานมา ลูกค้ารายแรกๆ ใช้เวลาแค่ 90 วัน ตอนนี้เหลือ 45-60 วัน และที่เคยทำให้เร็วที่สุดอยู่ที่ 25 วัน หลังจบราคา(แบบที่ไม่เคยมีการสร้างบ้านแบบนั้นๆเลย) ลูกค้าก็มีโครงสร้างบ้านหลังแรกพร้อมทำงานระบบ และงานสถาปัตย์แล้ว ยังไม่นับว่าหากมีการก่อสร้างต่อเนื่อง เฉพาะโครงสร้างบ้านลูกค้าสามารถลดเวลาในส่วนโครงสร้างบ้านได้ถึง 80%

นอกจากความรวดเร็วแล้วยังสามารถลดแรงงานได้ประมาณ 90% คือถ้าจะผลิตบ้าน 2 ชั้นให้ได้ 300 หลัง เฉพาะในส่วนของงานโครงสร้างการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูน (conventional) ใช้คนประมาณ 1,000 คน ระยะเวลาก่อสร้าง 60 วัน/หลัง Precast แบบ manual ใช้คนประมาณ 700 คน ผลิตไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ระยะเวลาติดตั้ง 10 วัน/หลัง Precast แบบ Automatic ใช้คนประมาณ 100-200 คน ผลิตไม่เกิน 24 ชั่วโมง ระยะเวลาติดตั้ง 7 วัน/หลัง

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเชื่อว่าทุกธุรกิจเมื่อมีจังหวะขายคือต้องได้ขาย และในขณะเดียวกันต้องรักษาเงินสด ดังนั้นต้องมีสต็อกแค่ที่จำเป็นเท่านั้น ผู้พัฒนาอสังหาฯ ในยุคปัจจุบันจึงเน้นความรวดเร็ว เพื่อให้มีเวลาทำการตลาดมากขึ้น และรับรู้รายได้เร็ว เพราะทุกบริษัทก็พยายามบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ซึ่งสำหรับผู้พัฒนาอสังหาฯ วิธีที่จะทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากที่สุด คือทำให้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นคิดโครงการ จนถึงเปิดขายให้น้อยที่สุด มีสต็อกให้น้อยที่สุด แต่ก่อสร้างและส่งมอบให้เร็วที่สุด

Precast จึงเป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์งานก่อสร้างในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เรียกว่าเป็น New Normal ของอุตสาหกรรมเลยก็ได้ ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ลดต้นทุนการก่อสร้าง สามารถควบคุมคุณภาพการก่อสร้างได้ดีกว่า อีกทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการทางสถาปัตยกรรมมากขึ้น

ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) ดำเนินธุรกิจวิศวกรที่ปรึกษาให้บริการด้านบริหารและควบคุมการก่อสร้างงานแขนงต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา เนื่องจากเทคโนโลยีในงานก่อสร้างมีการพัฒนาอย่างไม่หยุด อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย เริ่มนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาใช้งานมากขึ้น ตลอดระยะเวลา หลายปีที่ผ่านมา PPS เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ พร้อมแสวงหาหนทางส่งมอบบริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า

เริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เอง เช่น โครงการรายงานความก้าวหน้างานก่อสร้างด้วยเว็บ ในปี 2013 โครงการรายงานความคืบหน้าแบบ real-time projective และพัฒนาต่อยอดมาเป็นแอพพลิเคชั่น project live sitewalk สำหรับการควบคุมดูแลโครงการก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการติดตามความเคลื่อนไหวแต่ละโครงการ ซึ่งบริษัทได้พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีระบบจัดเก็บข้อมูล PPSDrive การพัฒนาระบบจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิคส์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลและจัดเก็บเอกสารผ่านเซิฟเวอร์ของบริษัทเอง

สำหรับเทคโนโลยี Building Information management (BIM) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ สามารถใช้ในงานออกแบบ งานวิศวกรรม และงานก่อสร้าง โดยจะช่วยในการประหยัดเวลาการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน และยังสามารถขยายการใช้งานอื่นๆ เช่น การนำเสนอเพื่อการขาย การบริหารจัดการอาคารระหว่างใช้ รวมถึงการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการทำแพลตฟอร์ม BIM object สำหรับวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขายและสร้างพื้นที่ทางการตลาด ซึ่งบริษัทเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญแห่งอนาคต ผลักดันให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยยกระดับการแข่งขันได้ในระดับสากล

PPS ได้วางแผนที่จะนำฐานข้อมูลจากโครงการก่อสร้างมาเชื่อมโยงกับนวัตกรรมที่บริษัทมี เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทฯ ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ชื่อแผนการพัฒนานวัตกรรมนี้ว่า Project Visualization เรี่มจากการนำแบบ BIM และข้อมูลเอกสารสำหรับโครงการก่อสร้างต่างๆ ไปจัดเก็บในระบบ PPS Drive และเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อดึงข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น ดึงข้อมูลแบบก่อสร้างมาทำเป็น AR/VR จำลองเป็นภาพเสมือนจริง ผ่านนวัตกรรม Project Live: Sitewalk เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเปรียบเทียบแบบก่อสร้างในการตรวจงานก่อสร้างด้วย

ล่าสุด บริษัทได้พัฒนาบริการเสริม PROPTECH https://proptech.ppsic.co.th เทคโนโลยี AR/VR จำลองเป็นภาพเสมือนจริง ที่สามารถเข้าไปชมพื้นที่แบบจำลอง รองรับการออกแบบฟังก์ชั่นการตกแต่ง และสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์หรือปรับแต่งอุปกรณ์ภายในบ้านให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามต้องการได้ สามารถใช้เป็น Showroom เสมือนจริง เพื่อเสริมความสามารถทางการขายได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากพัฒนาเพื่อรองรับการออกแบบของโครงการลักซ์ชัวรี่วิลล่าในที่ดินแหลมยามู แล้ว PPS ยังมีแผนที่จะขยายบริการให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต

“ในช่วงที่เกิดวิกฤตบริษัทเตรียมความพร้อมในการฝึกและเพิ่มทักษะ เพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงานให้สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการรับงานภาครัฐ และทักษะด้านงาน Claim ฯลฯ เพื่อยกระดับองค์กรหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว อาจส่งผลให้สภาพธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์นี้จึงถือเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้บริษัทได้ทบทวนการปฎิรูปธุรกิจและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อการยกระดับองค์กร”

ณัฏฐ์นวัต พันธุกรกวีวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดอะบานดี้ (BAANDY) กลุ่มบริษัท Start Up จากเมืองกาฬสินธุ์ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อ-ขายวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้าน “บานดี้” (BAANDY Marketplace Platform) ให้บริการทั้ง www.baandy.com และแอปพลิเคชัน แบบออมนิ (Omni Shopping) ที่ผสานการซื้อขายออนไลน์และออฟไลน์ (ร้านค้าวัสดุก่อสร้างใกล้บ้าน) เข้าด้วยกัน รวมทั้งบริการช่างฝีมือ ที่เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างซ่อมแซม และบริการติดตั้งครบวงจร มาพร้อมกับเทคโนโลยี AI ที่จะช่วยยกระดับวงการวัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้านให้เป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

“ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ไม่เดินหน้า ทำให้ผู้ประกอบการค้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านรายใหญ่ ต่างปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าหันมาเน้นตลาดลูกค้ารายย่อยมากขึ้น ด้วยความที่พวกเราอยู่ในวงการวัสดุก่อสร้าง คลุกคลีกับร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างมานานมากๆ เลยทำให้เราเข้าใจพฤติกรรม ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างของผู้บริโภค ที่สำคัญเราได้เห็นสภาพตลาดที่ผู้ค้ารายย่อยเริ่มแข่งขันไม่ไหว จะให้ร้านค้ากลุ่มนี้ไปทำออนไลน์เอง ทำตลาดเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือทำกันได้ทุกราย เลยเริ่มมีไอเดียที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงวงการค้าขายวัสดุก่อสร้าง โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการค้าขายอยู่ในปัจจุบัน จึงได้ออกแบบแอปพลิเคชันที่เกิดจากการผสานประสบการณ์และความต้องการ พฤติกรรมจากกลุ่มผู้ขายและผู้บริโภคสองส่วนเข้าด้วยกัน”

โดย BAANDY จะทำหน้าที่เป็นตลาดกลางเชื่อมต่อระหว่าง ร้านค้า ผู้ให้บริการ กับ เจ้าของบ้าน ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้าง เข้าด้วยกัน เป็นศูนย์รวมในการตอบสนองความต้องการสินค้าก่อสร้างอย่างครบครัน มีสินค้าครบทุกประเภท นอกจากนี้ยังมีระบบช่วยในการวิเคราะห์ตลาด และช่วยในการทำการตลาดให้กับร้านค้า สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น กว้างขึ้น รวดเร็วและตรงเป้าหมายด้วยการนำระบบ AI มาใช้ รวมถึงการเป็นตัวกลางในการช่วยดูแลเรื่องการชำระเงิน อำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน เพิ่มความมั่นใจในการรับงานและส่งมอบ อีกทั้งบริการการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วโดยร้านค้าวัสดุก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ และผู้นำด้านการจัดส่งสินค้า เช่น ไปรษณีย์ไทย Best Express J&T Express และอื่นๆ

BAANDY จึงเป็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาเพิ่มช่องทางการขายให้กับร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ส่วนใหญ่จะให้บริการแบบออฟไลน์ สามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาระบบเอง ทำการตลาดเอง ซึ่งจะช่วยยกระดับร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศ ให้ทันต่อกระแสเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดยอดขายที่ดีขึ้น แข่งขันได้ และมีความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน