นายฉัตรชัย นาอ้อม เกษตรอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรอำเภอจังหาร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมกันผลิต ร่วมกันปลูก ร่วมกันจำหน่าย สำหรับพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องข้าวหอมมะลิ แต่ภายหลังฤดูทำนา เกษตรกรบางส่วนอาจจะปล่อยที่นาทิ้ง ไม่ได้ทำการเกษตร เพื่อรอทำนาในฤดูกาลต่อไป สำนักงานเกษตรอำเภอจังหาร จึงได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของการปลูกถั่วลิสง โดยแนะนำปลูกเป็นพืชหมุนเวียนหลังฤดูเก็บเกี่ยว นอกจะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตในช่วงหน้าแล้งแล้ว เศษซากต้นถั่วภายหลังเก็บผลผลิตแล้ว ยังสามารถไถกลบเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไปด้วย

สำหรับวิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสงบ้านป่านเทคโน หมู่ 17 ตำบลดงสิงห์ อำเภอจังหาร เป็นกลุ่มเกษตรกรที่สำนักงานเกษตรอำเภอจังหาร ได้เข้าไปให้คำแนะนำในเรื่องการปลูกถั่วลิสงหลังฤดูทำนา วิธีการในการแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร รวมทั้งยังส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อกลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสงบ้านป่านเทคโน ปัจจุบันผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เลขที่ 1147/2549 ลว. และมาตรฐาน อย. ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เลขที่ อย-4520114320002 เป็นการการันตีว่าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีความปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และกลุ่มดังกล่าวยังคงพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยได้สมัครเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยมีเป้าหมายในการที่จะส่งเสริมในการบริหารจัดการที่ดี ให้มีโรงงานผลิตถั่วลิสง และเครื่องจักรกลในการแปรรูปถั่วลิสงแบบครบวงจร รวมไปถึงส่งเสริมในการหาช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นต่อไป

ด้าน นางประมวล พลพุทธา ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสงบ้านป่านเทคโน หมู่ 17 ตำบลดงสิงห์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสงบ้านป่านเทคโน หมู่ 17 ตำบลดงสิงห์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอจังหาร ให้ปลูกถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ต่อมาในปี พ.ศ 2532 สำนักงานเกษตรอำเภอจังหารได้เข้ามาแนะนำในเรื่องการแปรรูปถนอมอาหาร และให้รวมกลุ่มกันเป็น “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” เพื่อทำการแปรรูปผลผลิตออกจำหน่าย และในปี 2549 ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตจากสำนักงานเกษตรอำเภอจังหาร สำหรับใช้ต่อยอดแปรรูปถั่วลิสงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทขบเคี้ยวหลายอย่าง เช่น ขนมถั่วตัด ถั่วกรอบแก้ว ถั่วคั่วทราย และ ถั่วทอดเค็ม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคกลับมาดีเกินคาด ปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในครัวเรือนจากถั่วลิสงคั่วสู่ “ถั่วป่านทอง” ปลูกในท้องถิ่นจากมือเกษตรกร ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของ “แม่บ้านเกษตรกร” และในปี 2554 ทางกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสงบ้านป่านเทคโน หมู่ 17 ตำบลดงสิงห์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสงบ้านป่านเทคโน มีสมาชิก จำนวน 35 คน โดยทุกคนจะลงหุ้นกันคนละ 100 บาท เป็นทุนในการผลิตลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยทางกลุ่มได้นำผลิตภัณฑ์ไปลงทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ใช้ชื่อว่า “ถั่วป่านทอง” และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็น “มืออาชีพด้านการแปรรูป” มีสำนักงานเกษตรอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนให้ทางกลุ่มสมัครเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2559 โดยเน้นการวางแผนให้กับเกษตรกรสมาชิกให้มีผลผลิตทั้งปี ซึ่งได้ผลผลิตรวมประมาณ 15 ตันต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางกลุ่มมีตลาดที่แน่นอนหลายแห่ง อาทิ OTOP CITY ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ห้างสรรพสินค้าร้อยเอ็ดพลาซ่า ร้านค้าประชารัฐ และในส่วนของตลาดออนไลน์จะมีเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร และ แอปพลิเคชัน shopee สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มประมาณ 1 – 1.5 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด –19 ในปี พ.ศ. 2563 จึงทำให้ทางกลุ่มได้รับผลกระทบ จำหน่ายผลผลิตได้น้อยลง อยู่ที่ประมาณ 7-8 ตัน คิดเป็นรายได้รวมประมาน 800,000 – 900,000 บาท ทางกลุ่มจึงได้ปรับตัวในการวางแผนการปลูกให้กับสมาชิกโดยยึดหลักการตลาดนำการผลิต เพื่อไม่ให้มีผลผลิตตกค้าง หรือล้นตลาด สำหรับเกษตรกร หรือผู้สนใจการปลูกถั่วลิสง รวมไปถึงกระบวนการแปรรูปถั่วลิสงแบบครบวงจร ทางกลุ่มกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสงบ้านป่านเทคโน พร้อมเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน