จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชนรวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแรงานต่างด้าวที่ประสบกับอุปสรรค ข้อขัดข้อง รวมถึงการไม่สามารถเดินทางกลับประเทศเพื่อไปจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ได้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานสัญชาติเมียนมา ที่เป็นกลุ่มแรงงานจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย เป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการฟื้นฟูประเทศ ทั้งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 คลี่คลาย จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการแก้ไขข้อขัดข้องเพื่อให้แรงงานสามารถมีเอกสารประจำตัวในการอยู่เพื่อทำงานในราชอาณาจักรไทยได้ต่อไป

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายในประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ในประเทศไทย โดยความร่วมมือกับทางการเมียนมา จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ระนอง สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยให้บริการแก่แรงงานเมียนมาเพื่อขอรับเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่ การยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน และเปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาตทำงาน เช่น การเปลี่ยนนายจ้าง หรือการเปลี่ยนที่อยู่ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม – 1 สิงหาคม 2565 ในวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 09.00 – 17.30 น. ซึ่งตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม – 18 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้มาดำเนินการจัดทำหนังสือรับรองบุคคล (CI) ทั้งสิ้น 53,090 คน

สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไป ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

– คนต่างด้าวตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ซึ่งใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่31 มีนาคม 2565 ให้มาดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ซึ่งจะได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

– คนต่างด้าวตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเข้ามาทำงานตาม MOU วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563-31 ธันวาคม 2564และวาระการจ้างงานครบ 2 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 ให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานเป็นระยะเวลา 2 ปี

– คนต่างด้าวซึ่งใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม 2564 อาทิ คนต่างด้าวที่ไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ได้ทันภายใน 30 วัน

สำหรับแรงงานที่ประสงค์เข้ารับบริการ ณ ศูนย์ CI ขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

  1. แรงงานเมียนมานำเอกสาร CI ฉบับเดิม ดำเนินการชำระเงินค่าธรรมเนียมการออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 – 11 จำนวน 310 บาท หรือกรณีเอกสารรับรองบุคคลฉบับเดิมสูญหายหรือชำรุด ชำระเงินค่าธรรมเนียมการออกเอกสารรับรองบุคคลฉบับใหม่ รวมเป็นเงินจำนวน 480 บาท เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว สามารถลงทะเบียนนัดหมายล่วงหน้า โดยจะได้รับใบเสร็จที่ระบุวันนัดหมายเพื่อไปดำเนินการ ณ ศูนย์ CI ซึ่งมีการกำหนดจำนวนผู้มาใช้บริการต่อวัน ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคที่แต่ละจังหวัดกำหนด
  2. ในวันนัดหมายให้แรงงานเมียนมานำใบเสร็จมาขอรับการดำเนินการที่ศูนย์ CI โดยทางศูนย์มีบริการตรวจหาเชื้อ COVID – 19 ด้วยวิธี ATK
  3. ขอรับเอกสารรับรองบุคคล (CI) โดยเจ้าหน้าที่จากทางการเมียนมา ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสัญชาติ จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometric Data) และออกบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว
  4. ทางการไทย โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน หากดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว จะตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ระหว่างที่ยังไม่มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ให้ทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย หรือประกันสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกรณีที่ยังไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงาน ให้ยื่นคำขอตามแบบ บต. 50 พร้อมเอกสารและหลักฐาน พร้อมชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,000 บาท เพื่อสามารถทำงานได้ถึง 13 ก.พ. 66
  5. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราเพื่ออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยแรงงานเมียนมาต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม จำนวน 1,900 บาท ณ ศูนย์ฯ

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายเมื่อครั้งลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อตรวจความพร้อมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวว่า การแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนเป็นเรื่องอ่อนไหว ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้กระทรวงแรงงานดำเนินมาตรการการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม เข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย หากพบแรงงานถูกหลอกลวง หรือการค้ามนุษย์ ต้องให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาท่านรัฐมนตรีสุชาติฯ ได้นำนโยบายทั้งจากท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกประวิตรฯ มาเป็นแนวทางการทำงานแก่กรมการจัดหางาน และทุกกรมภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงานมาโดยตลอด ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่สถานประกอบการ แรงงาน และการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานต่างด้าว” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน