ผู้บริหาร สกสว. และ ม.อุบลฯ ร่วมหารือ เพื่อรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมแจงช่องทางการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐาน ให้มีผลกระทบสูงระดับอาเซียน ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด ยกระดับการพัฒนาของพื้นที่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคน และสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. เข้าร่วมการประชุม “Site Visit” หน่วยงานในระบบ ววน. พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลับอุบลราชธานี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นักวิจัย ให้การต้อนรับ และ ร่วมการประชุม ทั้งในรูปแบบออนไซต์ โดยการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 และรูปแบบออนไลน์

โอกาสนี้ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผอ.กลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนฯ กล่าวถึงภาพรวมของการดำเนินงาน ภายใต้นโยบาย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) ว่า ที่ผ่านมา สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณ FF แบบ Block Grant ให้กับ ม.อุบลฯ เพื่อดำเนินงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย โดยใช้ข้อมูลประสิทธิภาพ (Performance) ของหน่วยรับงบประมาณ และ บุคลากรในหน่วยรับงบประมาณเป็นหลักในการพิจารณา เช่น ปี 2564 สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยแบ่งเป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 15 โครงการ และ ปี 2565 จำนวน 21 โครงการ อาทิ โครงการเครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลฯ โครงการพัฒนาแมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และ พัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลงเพื่อขับเคลื่อน ภาคตะวันออกตอนล่าง 2 โครงการวิจัย “การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุในเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเชื่อมโยงลาวใต้” ณ พื้นที่วิจัย (อำเภอนาตาล อำเภอโขงเจียม อำเภอเขมราฐ) ส่วนงบประมาณในปี 2566 นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องงบประมาณ ที่ สกสว. ได้จัดสรรให้ดำเนินการแล้ว ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ ได้เน้นย้ำถึงการจัดแผนงาน ที่แต่หน่วยรับงบประมาณ จะต้องระบุรายละเอียดงบประมาณ ทิศทางการบริหารจัดการแผนงานและโครงการ ววน. กับมหาวิทยาลัยและนักวิจัย ซึ่งจะทำให้นักวิจัยได้เข้าใจการบริหารโครงการ รวมถึงการนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบที่สอดคล้องตามพันธกิจ และ แผนด้าน ววน. ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ให้มีความเข้มแข็ง และเกิดประโยชน์จากการใช้งบประมาณด้าน ววน. อย่างสูงสุด ที่สำคัญยังเป็นช่องทางให้หน่วยรับงบประมาณ สามารถนำงานพื้นฐานไปต่อยอดในฝั่งของงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ที่หน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ กำกับดูแล เช่น โครงการพัฒนาวัสดุศาสตร์เพื่อใช้เป็นเซนเซอร์ที่ชาญฉลาด สำหรับการแก้ปัญหาในท้องถิ่น โครงการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศเชอรีอินทรีย์ ในโรงเรือนที่มีคุณภาพสูง สำหรับตลาดพรีเมี่ยมในจังหวัดอุบลฯ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ด้าน รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ ม.อุบลฯ กล่าวถึงภาพรวมด้านการวิจัย ว่า นอกจากเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ และกรอบการวิจัยที่ดำเนินการ เพื่อยกระดับให้ม.อุบลฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม University Impact Ranking ของ THE ลำดับที่ 101-200 ภายใน ปี พ.ศ. 2567 อีกทั้งยังมีความสอดคล้องกับพันธกิจ เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาพื้นที่ เช่น โครงการการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลฯ : โครงการฟื้นใจเมืองเขมราษฎร์ธานี ซึ่งสร้างผลกระทบให้เกิดการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 10,000 คน และมีผู้ประกอบการสร้างสรรค์ 145 ราย อีกทั้งสร้างระบบการอนุรักษ์วัฒนธรรมและการแสดงท้องถิ่นในพื้นที่

เช่นเดียวกับ โครงการพัฒนาวัสดุคอมโพสิตทางเลือกจากยางพาราและพัสดุเหลือใช้ชีวมวล ที่เกิดการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และ การขยายผลในพื้นที่ โดยเกิดการยื่นอนุสิทธิบัตร เพื่อผลิตเครื่องผสมกรดฟอร์มิก (หรือที่เรียกว่า “กรดมด” เป็นสารจับตัวยาง) แบบอัตโนมัติ ควบคุมผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ส่งให้แก่กลุ่มเกษตรกรกองทุนสวนยางจำนวน 23 เครื่อง โดยผู้ประกอบการ 1 ราย มีรายได้ 2,850,000 บาท ต่อปี จากตัวอย่างดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการวิจัย ที่ ววน.จะร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน