ปัจจุบัน เรามีชีวิตอยู่ในโลก 2 ใบ โลกใบแรกคือโลกแบบ Physical ที่เราคุ้นเคย ซึ่งบริษัทที่อยู่โลกนี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดรุนแรงมาก พวกเขาจำเป็นต้องตัดต้นทุน ลดพนักงาน ส่วนรัฐบาลก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือบริษัทที่อยู่ในโลกใบนี้ พิมพ์เงินออกมาช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ บางบริษัทก็แทบจะหมดหวังหรือต้องปิดตัวกันลงไปเลย พวกเขาจึงเรียกยุคสมัยนี้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอน

ในขณะที่โลกอีกใบหนึ่ง หรือที่เราเรียกว่าโลกดิจิทัล บริษัทที่อยู่ในโลกนี้เติบโตกันกว่า 1,000% ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แถมองเร่งเพิ่มพนักงานกันแทบไม่ทัน บริษัทที่อยู่ในโลกใบนี้จึงเรียกยุคสมัยนี้ว่าเป็นยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์

โลกทั้ง 2 ใบนี้คือโลกใบเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่มุมมองเพราะสิ่งที่เรียก Digital Divide หรือการแบ่งแยกทางดิจิทัลที่หนักเรื่อย ๆ ถ้าถามว่าหนักขนาดไหน ให้ลองนับ 1 ถึง 10 ในใจ ในระหว่างที่นับ บริษัทที่อยู่ในโลกใบที่ 2 อย่าง Google พวกเขาทำเงินไปได้กว่า 600,000 บาท ทุก 10 วินาทีเรานับในใจ หรือ Facebook ที่เงินไปได้กว่า 1,700,000 บาทในระหว่างที่เรานับ แต่ถ้าเป็นบริษัทในโลกใบแรก พวกเขาทำไปได้แค่ 6 สตางค์โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลก

นอกจากนี้ สถิติล่าสุดจาก Google ยังพบว่าหลังจากโควิด จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 280 ล้านคน เป็น 350 ล้านคน หรือประมาณ 70 ล้านคน ซึ่งแทบจะเท่ากับคนไทยทั้งประเทศ และ 9 ใน 10 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนนี้ยังเป็นผู้บริโภคทางดิจิทัล (Digital Consumer) ด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่กำลังดำเนินไป และวันนี้เป็นวันที่สำคัญมาก เพราะเราต้องเลือกแล้วว่าเราจะอยู่ในโลกใบไหน เราอยากจะเป็นผู้แพ้ หรือผู้ชนะในเศรษฐกิจยุคใหม่นี้

ประเทศไทยของเราเมื่อก่อนแทบจะเป็นเมือง Detroit แห่งเอเชีย เพราะเราเคยมีกำลังผลิตรถยนต์สูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ต่อมาก็มี Amazing Thailand อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเราเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยแค่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็แทบจะเท่ากับ 20% ของ GDP ไทย คิดเป็นมูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาท แต่หลังจากโควิด มูลค่านั้นลดลงมาเหลือแค่ 3 แสนล้านบาท หรือจาก 20% เหลือ 2%

ถ้าประเทศเราอยากจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราจะยังกลับไปพึ่งพาวิถีทางเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ งั้นหรือ?

สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในเมืองไทย เมื่อก่อนคิดเป็นประมาณ 17% ของ GDP แต่บริษัทที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ได้แก่ Facebook, Lazada, Shoppee, Airbnb, Instagram ซึ่งที่ยกตัวอย่างมานี้ ไม่มีบริษัทไหนเลยที่เป็นของคนไทย แล้วพวกเขาจะจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยเท่าไหร่เชียว?

ถ้าเราอยากจะผลักดันให้เกิดบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็น National Champion ขึ้นมาจริง ๆ เราต้องเข้าใจกฎใหม่ของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นก่อน และในวันนี้ กฎใหม่นั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรายังยึดติดกับกฎเดิม เราจะเป็นผู้ชนะได้ไหม?

เราเชื่อว่าคนที่จะเป็นผู้ชนะ ก่อนอื่นต้องรู้จัก Unlearn & Relearn หมายความว่าเราต้องเลิกพึ่งพากฎเก่า ๆ และหันมาเรียนรู้ทำความเข้าใจกฎใหม่ ๆ คนที่ทำเช่นนี้ได้เท่านั้น ถึงจะเป็นผู้ชนะในยุคใหม่นี้

ความแตกต่างระหว่างธุรกิจในโลกเก่าและในโลกใหม่

“ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป เคยอธิบายถึงธุรกิจในโลกเก่าและโลกใหม่ ในวิดีโอ Vision ของกลุ่ม Bitkub และ KUB โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 Layer หลัก โดยเริ่มจาก 2 Layer แรกที่ยังเป็นธุรกิจในโลกเก่า

Layer ที่ 1 คือ Content Business ได้แก่ ธุรกิจหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือธุรกิจที่ทำหน้าที่กระจายข้อมูลไปสู่ประชาชน แต่พอมาเป็นในยุคนี้ เรามีอินเทอร์เน็ต ต้นทุนการผลิตหรือการกระจายข้อมูลก็แทบจะเป็นศูนย์ การถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ต ต่อให้มีคนดูแค่หลักสิบคนก็มีต้นทุนเท่ากับคนดูล้านคน เทียบกับเมื่อก่อน ถ้าอยากกระจายข้อมูลออกไปสู่คนมากขึ้นก็ต้องพิมพ์ออกมามากขึ้น หรือขยายพื้นที่ให้คนเข้ามาได้มากขึ้น หมายความว่ายิ่งต้องการกระจายข้อมูลออกไปมากเท่าไหร่ ต้นทุนก็ยิ่งสูงขึ้นตาม นั่นจึงทำให้ธุรกิจใน Layer นี้เริ่มหมดความจำเป็นลงไป

Layer ที่ 2 คือ Products & Services ก็คือธุรกิจที่ขายผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับประชาชน ซึ่งสาเหตุที่ประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง เป็นเพราะบริษัทในเมืองไทยที่เข้าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังธุรกิจในเลเยอร์นี้ ถ้าไม่ผลิตสินค้าขายก็ให้บริการ เมื่อทุกคนสามารถผลิตสินค้าและให้บริการให้เหมือนกัน ก็กลายเป็นการแข่งกันตัดราคา ลดต้นทุน หรือไม่ก็ลดการจ้างงาน

ถ้าลองหันไปมองประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา พวกเขาไม่มาสนับสนุนธุรกิจในเลเยอร์ที่ 1 กับ 2 แล้ว แต่พวกเขาจะสนับสนุนธุรกิจในเลเยอร์ที่ 3 4 และ 5

Layer ที่ 3 คือ Platform Business ซึ่งธุรกิจเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อผู้สร้าง Content กับผู้ชมเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่าง Youtube ที่เป็นแพลตฟอร์มที่มี Media มากที่สุดในโลก โดยไม่มี Media ของตัวเอง หรือ AirBNB ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับที่พักและโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่มีโรงแรมเป็นของตัวเอง

Layer ที่ 4 คือ Ecosystem Business ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดตลาดมากกว่า Layer ที่ 3 อีก โดย Ecosystem Business เรียกได้ว่าเป็นหลาย ๆ Platform ที่อยู่ในที่เดียวกัน พูดง่าย ๆ คือ บริษัทเดียวเป็นเจ้าของหลายสะพาน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ WeChat ของประเทศจีน ซึ่ง WeChat เป็นอู่รถแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุด โดยไม่มีแท็กซี่เป็นของตัวเอง WeChat ยังเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง เขาเป็นแค่สะพาน แต่เป็นเจ้าของหลายสะพานที่ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ

Layer ที่ 5 คือ Exponential Operating System หมายถึงธุรกิจที่สร้างระบบปฏิบัติการที่ทุกคนต้องใช้ เช่น Windows ของ Microsoft หรือ iOS ของ Apple ซึ่งระบบดิจิทัลแทบทุกอย่างต้องทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการนี้ กลายเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ เช่น Facebook ที่ต้องไปสร้างแอปพลิเคชันอยู่บน iOS ถ้าไม่มี iOS Facebook ก็จะอยู่ไม่ได้ หรือถ้า Microsoft เปลี่ยนนโบบายของระบบปฏิบัติการ ธุรกิจเลเยอร์ที่ 3 และ 4 ก็ต้องปรับตัวตาม เพราะฉะนั้น Layer 5 จึงเป็น Layer ที่ทรงพลังในเศรษฐกิจปัจจุบันที่สุด

จะสังเกตได้ว่าจุดเด่นของธุรกิจในเลเยอร์ที่ 3 และ 4 คือพวกเขาไม่ผลิตสินค้าหรือให้บริการเอง แต่พวกเขาเป็นสะพานที่แข็งแรงและเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Free Flow of Information ผู้บริโภคจึงสามารถสื่อสารกับผู้ผลิตได้อย่างอิสระ ดังตัวอย่างที่ยกมาใน Layer ที่ 3 เช่น Youtube ที่เป็นแพลตฟอร์มที่มี Media มากที่สุดในโลก โดยไม่มี Media ของตัวเอง

เพราะฉะนั้น สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไปจะเป็นอย่างไร คำตอบคือสถาบันการเงินที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง แต่เป็นสถาบันที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Free Flow of Capital หรือการเคลื่อนที่ของเม็ดเงินที่อิสระโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งบล็อกเชนจะเข้ามาปลดล็อกสิ่งนี้ กลุ่ม Bitkub จึงกำลังพัฒนาเครือข่าย Bitkub Chain โครงสร้างพื้นฐานสำหรับคนไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง

วิวัฒนาการของเทคโนโลยี และ Bitkub Metaverse

อีกปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกับโลกดิจิทัลก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่เราใช้สื่อสารกันทุกวันนี้ ซึ่งเราจะมาดูกันว่าที่ผ่านมาการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร มีการพัฒนาการอย่างไร และอินเทอร์เน็ตในอนาคตจะเป็นเช่นไร

ในช่วงแรกที่อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ หรือเมื่อประมาณ 20 กว่าปี ถ้ายังจำกันได้ ตอนนั้นเราต้องใช้โมเดมเน็ต 56k แล้วก็ลุ้นว่ามันจะเชื่อมต่อให้เราสำเร็จไหม เว็บไซต์ในตอนนั้นก็เป็นเว็บไซต์แบบ Web 1.0 ที่เราสามารถอ่านได้อย่างเดียว ผู้อ่านไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้ จึงแทบไม่ต่างอะไรกับการอ่านหนังสือพิมพ์

ต่อมา อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีก็เริ่มพัฒนา อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้มากขึ้น เว็บไซต์ก็เริ่มพัฒนามาเป็น Web 2.0 ที่ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับเว็บไซต์ได้แล้ว เช่น การแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ และเราก็เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตสื่อสารกับคนที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ โดยในช่วงแรกเราอาจจะยังทำได้แค่โต้ตอบผ่าน Text หรือตัวหนังสือ ยังไม่สามารถเห็นหน้าหรืออารมณ์ของอีกฝ่ายได้

แต่เนื่องจากคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตต่างก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งความเร็วเน็ตและกำลังประมวลจะถูกยกระดับขึ้นไปอีก 2 เท่าทุก ๆ 2 ปี รวมถึงการมาของสมาร์ตโฟนที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่เราทำได้แค่สื่อสารผ่านตัวหนังสือ เราเริ่มส่งรูปภาพหรือ Snapshot ให้กันได้ เริ่มเห็นหน้าและอารมณ์ของอีกฝ่ายได้ และต่อมาก็เป็น Video Call โทรคุยแบบเห็นหน้าอีกฝ่ายได้แบบ Realtime นอกจากนี้ ประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตก็ยังสามารถปรับแต่งให้เป็นแบบที่ผู้ใช้แต่ละคนต้องการได้ด้วย เช่น ถ้าผู้ใช้ชอบกีฬาก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกีฬาออกมามากขึ้น ถ้าชอบแมวก็มีจะมีวิดีโอแมวออกมาให้ดูมากขึ้น และล่าสุด เราสามารถ Live Stream หรือถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตให้ผู้ชมทางบ้านนับล้านคนดูได้แล้ว โดยที่ต้นทุนในการถ่ายทอดสดก็แทบจะเป็นศูนย์ไม่ว่าจะดูสิบคนหรือล้านคน

ถ้าจะแบ่งการพัฒนาของการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตออกเป็นยุค เราสามารถแบ่งได้ดังนี้

ยุคที่ 1: สื่อสารผ่านตัวหนังสือ (Text)
ยุคที่ 2: สื่อสารผ่านรูปภาพ (Photo)
ยุคที่ 3: สื่อสารผ่านวิดีโอคอล (Video Call)
ยุคที่ 4: สื่อสารผ่าน Live Stream

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังคงเกิดขึ้นในกล่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หรือหน้าจอโทรศัพท์ แต่ในอนาคตอีกไม่นานจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น หรือยุคที่ 5 ที่เรียกว่าโฮโลแกรม (Hologram) โดยจะเป็นการสวมแว่นตา AR (Augmented Reality) หรืออุปกรณ์ VR (Virtual Reality) ที่สามารถเห็นอีกฝ่ายมายืนคุยอยู่ตรงหน้าได้ราวกับว่าอยู่ในสถานที่เดียวกันจริง ๆ ซึ่งตัวคนที่โผล่มาให้เห็นแบบโฮโลแกรมเราเรียกว่าอวาตาร์ (Avatar) ที่เราสามารถตกแต่งหรือ Customize ให้เป็นแบบที่เราชอบได้ ซึ่งนี่ก็คือ Metaverse ที่ทุกคนกำลังเฝ้ารอกัน

ทีนี้ ถ้าเกิดว่าทุกคนมีอวาตาร์เหมือนกันใน Metaverse แล้วเราจะแยกว่าใครเป็นใครได้อย่างไร คำตอบคือ NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งเราเปรียบ NFT เป็นเหมือนกับ DNA ที่แสดงตัวตนของผู้ใช้บนอินเทอร์เน็ต ถ้าการแสดงตัวตนในยุค Web 1.0 คือ [email protected] Web 2.0 คือ www.toppjirayut.com สิ่งที่จะระบุตัวตนใน Web 3.0 ก็คือ Avatar ที่มี DNA อยู่บน Blockchain ก็คือ NFT

แน่นอนว่าในทุกยุคสมัยของเทคโนโลยีเราต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่พร้อมรองรับเทคโนโลยี โดยในยุค Web 2.0 มีโครงสร้างพื้นฐานคือ Cloud Server ที่มาแทนที่ Private Server มีสมาร์ทโฟนที่พกพาได้ง่ายมาแทนที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ มีสัญญาณ 4G, 5G, Fiber Optics มาแทนที่ 56k Modem ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมหาศาล และในยุคของ Web 3.0 ก็มีโครงสร้างพื้นฐานของมันเช่กัน นั่นก็คือบล็อกเชน, NFT, และคริปโทเคอร์เรนซี

สิ่งที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับ Web 3.0 หรือ Metaverse มากที่สุดในตอนนี้จะเป็นพวก AR, VR, และ Avatar เสียมากกว่า แต่โครงสร้างพื้นฐานกล่าวมาก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเปรียบเทียบเป็นภูเขาน้ำแข็ง พวก AR, VR, และ Avatar ก็คือยอดภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ข้างบน ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างบล็อกเชน, NFT, คริปโทเคอร์เรนซี จะอยู่ด้านล่างของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ

นี่คือสิ่งที่กลุ่ม Bitkub กำลังสร้างให้กับประเทศไทย โดย Bitkub ไม่ได้เป็นแค่กระดานซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีอีกต่อไปและ Bitkub ก็จะไม่หยุดแค่ Unicorn แต่เรากำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ Web 3.0 อย่าง Bitkub Chain, NFT รวมถึง Bitkub Metaverse เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาสร้างธุรกิจดิจิทัลบนโครงสร้างพื้นฐานนี้ และผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นจริงในประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน