สำหรับคู่รักที่อยากจะมีลูกเป็นของตนเอง แต่ด้วยปัจจัยทางร่างกายที่อาจทำให้การมีลูกเป็นเรื่องยาก หรือมีภาวะมีบุตรยาก ดังนั้นการใช้วิธีตามธรรมชาติอาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการมีลูกค่ะ ด้วยเทคนิคทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถเข้ามาบรรเทาปัญหาการมีลูกยากได้มีอยู่หลากหลายวิธี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย

หากได้ลองหลาย ๆ วิธีแล้วไม่ได้ผล การทำอิ๊กซี่ ICSI อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่อยากมีลูกแต่มีลูกยากก็ได้ค่ะ เพื่อให้เข้าใจถึงการทำอิ๊กซี่ ICSI คืออะไร ช่วยให้มีลูกได้มากกว่าวิธีอื่นจริงไหม บทความนี้จะมาอธิบายถึงขั้นตอน การเตรียมตัวก่อนและหลังทำอิ๊กซี่ ICSI รวมถึงตอบคำถามที่หลาย ๆ คนอาจสงสัยกันค่ะ

การทำอิ๊กซี่ ICSI คืออะไร

Intracytoplasmic sperm injection หรือการทำอิ๊กซี่ ICSI คือวิธีการรักษาของผู้มีภาวะมีบุตรยาก โดยอาศัยเครื่องมือและเทคนิคทางการแพทย์ปัจจุบันมาเป็นตัวช่วยให้เกิดการปฏิสนธิได้ง่ายกว่าวิธีทางธรรมชาติค่ะ

โดยแพทย์จะนำอสุจิและเซลล์ไข่ของคุณพ่อคุณแม่ออกมาภายนอกร่างกาย และทำการคัดเลือกอสุจิที่สภาพสมบูรณ์แข็งแรงที่สุดเพียงตัวเดียวก่อนใช้เครื่องมือ ICSI ฉีดอสุจิตัวนั้นเข้าเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันเลยโดยไม่ต้องรอให้อสุจิเจาะเซลล์ไข่เข้าไปปฏิสนธิเองค่ะ

ICSI ต่างกับ IVF อย่างไร

ก่อนอื่นการปฏิสนธิที่ไม่ใช่วิธีธรรมชาติอย่างการนำเซลล์ไข่และอสุจิออกมาทำให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายจะเรียกว่าการทำเด็กหลอดแก้วค่ะ ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้วยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีย่อย นั่นก็คือการทำ IVF และการทำอิ๊กซี่ ICSI นั่นเอง

แต่ทั้งสองวิธีนี้ก็ยังมีจุดแตกต่างกันในเรื่องของขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว ดังนี้

  • IVF (In-Vitro Fertilization)

IVF หรือชื่อเต็ม ๆ คือ In-Vitro Fertilization ซึ่งแปลตรงตัวเลยคือการปฏิสนธิภายในหลอดทดลอง หรือเรียกว่าเด็กหลอดแก้วนั่นเองค่ะ ซึ่งวิธี IVF นี้จะเป็นการทำเด็กหลอดแก้วแบบดั้งเดิม ลักษณะการปฏิสนธิภายนอกร่างกายจะนำเซลล์ไข่ 1 เซลล์และอสุจิจำนวนหนึ่งมาอยู่ร่วมกันในจานเพาะเลี้ยงหรือในหลอดทดลอง และรอให้อสุจิที่แข็งแรงที่สุดเข้าไปเจาะเซลล์ไข่เพื่อปฏิสนธิ

เมื่อเกิดการปฏิสนธิเรียบร้อยก็จะเลี้ยงต่อภายในห้องปฏิบัติการจนกว่าจะได้เป็นตัวอ่อนระยะ Blastocyst จึงจะนำตัวอ่อนนี้เข้าไปฝังในโพรงมดลูกของคุณแม่ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์

การทำอิ๊กซี่ ICSI มีกระบวนการที่ถูกพัฒนามาจากการทำเด็กหลอดแก้วแบบดั้งเดิมหรือ IVF ค่ะ ในบางครั้งที่เซลล์ไข่มีผนังเซลล์ที่หนาเกินไป หรือสภาพอสุจิไม่ดีพอหรือมีจำนวนน้อยเกินไป หากใช้การปฏิสนธิด้วยการทำ IVF อาจทำให้โอกาสการปฏิสนธิไม่สำเร็จสูง ดังนั้นในการทำอิ๊กซี่ ICSI นี้จะมีการใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยให้อสุจิสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้ง่ายขึ้น

โดยแพทย์หรือนักวิทย์ที่ชำนาญจะทำการคัดเลือกเซลล์ไข่และอสุจิที่สภาพดี สมบูรณ์มากที่สุดเพียงเซลล์เดียว จากนั้นจะใช้เครื่องอิ๊กซี่ ICSI ทำการเจาะเซลล์ไข่และฉีดอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปได้โดยตรง จากนั้นก็รอให้เกิดการปฏิสนธิและนำมาเลี้ยงต่อในห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกันกับการทำ IVF ต่อไปค่ะ

ขั้นตอนการทำ ICSI

  1. ปรึกษาแพทย์

หากคุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะมีลูก แต่พยายามเท่าไรก็ยังไม่ได้ผล อาจต้องเข้าปรึกษาแพทย์สูตินารีเวช เพื่อหาสาเหตุการมีลูกยาก หลังจากนั้นก็ทำการวางแผนการรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาจากสภาพร่างกาย และปัจจัยอื่น ๆ และเสนอทางเลือกการรักษาให้กับคุณพ่อคุณแม่

และถ้าตกลงวางแผนการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำอิ๊กซี่ ICSI แล้ว แพทย์จะทำการชี้แจงการรักษา การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา รวมไปถึงการตรวจร่างกายเพื่อดูความพร้อมในการรักษาด้วยการทำอิ๊กซี่ ICSI และนัดเข้าทำการรักษาต่อไป

ในขั้นตอนนี้คุณแม่ควรเข้าพบแพทย์ในช่วงก่อนมีประจำเดือนค่ะ

  1. เริ่มฉีดยากระตุ้นไข่

เพื่อให้ได้เซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ที่สุด แพทย์จะทำการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน และฉีดฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ กระตุ้นการเติบโตของเซลล์ไข่ จากนั้นจะมีการนัดทำอัลตราซาวด์เพื่อดูการเจริญของเซลล์ไข่ และตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเป็นระยะ ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 10 วัน

  1. เก็บไข่/อสุจิ

หลังจากการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้ได้เซลล์ไข่ที่สภาพสมบูรณ์ที่สุดและเซลล์ไข่นั้นพร้อมสำหรับการปฏิสนธิแล้ว แพทย์จะนัดมาทำการเก็บเซลล์ไข่โดยใช้เข็มดูดผ่านทางช่องคลอดในห้องผ่าตัด อาจมีการวางยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบเพื่อป้องกันการเจ็บปวดจากขั้นตอนการเก็บเซลล์ไข่ ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเก็บเซลล์ไข่เพียงประมาณ 30 นาทีเท่านั้น

สำหรับคุณพ่อแพทย์จะให้เก็บอสุจิมาจำนวนหนึ่ง นำอสุจินั้นมาทำการคัดเลือกผ่านกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาอสุจิที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์มากที่สุดเพียง 1 ตัวเท่านั้น

จากนั้นแพทย์จะนำเซลล์ไข่และอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีแล้วมาทำให้เกิดการปฏิสนธิกัน โดยใช้เครื่องมืออิ๊กซี่ ICSI เป็นตัวช่วยเจาะเซลล์ไข่และฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ เพื่อให้เซลล์ไข่และอสุจิได้เกิดการปฏิสนธิกันง่ายขึ้น

  1. เลี้ยงตัวอ่อน

เมื่อเกิดการปฏิสนธิเรียบร้อย จะต้องนำมาเลี้ยงต่อในห้องปฏิบัติการในสภาวะที่เหมาะสมกับตัวอ่อน โดยจะต้องควบคุมอุณหภูมิ แสง ความชื้น แรงดัน และที่สำคัญจะต้องปลอดเชื้อ และมีความใกล้เคียงกับการปฏิสนธิภายในร่างกายให้มากที่สุด จนกว่าจะเจริญพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะ Blastocyst ซึ่งมีความแข็งแรงระดับหนึ่งสำหรับการย้ายตัวอ่อนไปฝังในโพรงมดลูก โดยระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน

ระหว่างขั้นตอนนี้จะสามารถดูถึงความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนได้ หากพบว่าตัวอ่อนนั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรมแพทย์ก็จะสามารถคัดตัวอ่อนนั้นออกไป เป็นการลดโอกาสการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ลดโอกาสการให้กำเนิดลูกที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม และเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นนั่นเอง

  1. ย้ายตัวอ่อน

เมื่อตัวอ่อนพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ร่างกายคุณแม่แล้ว แพทย์จะนัดคุณแม่เพื่อนำตัวอ่อนนี้เข้าไปฝังในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป โดยขั้นตอนนี้แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปทางช่องคลอด และจะมีการอัลตราซาวด์หาตำแหน่งการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูกที่เหมาะสม จะทำการฝังตัวอ่อนในตำแหน่งที่เหมาะสมนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายคุณแม่ก่อนว่าพร้อมที่จะรับตัวอ่อนเข้าไปหรือไม่จากฮอร์โมน สภาพความพร้อมของโพรงมดลูก หากพบว่ายังไม่พร้อมอาจนำตัวอ่อนที่ได้นั้นไปแช่แข็งเพื่อรอความพร้อมของร่างกายคุณแม่ได้

  1. ตรวจการตั้งครรภ์

เมื่อฝังตัวอ่อนเข้าที่โพรงมดลูกแล้วแพทย์จะนัดตรวจร่างกาย เช่นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนว่าเกิดการตั้งครรภ์หรือไม่ แพทย์อาจนัดตรวจฮอร์โมนนี้ทุก ๆ 3 วัน และจะทราบผลภายใน 14 วันหลังย้ายตัวอ่อนค่ะ

การทำอิ๊กซี่ เหมาะสำหรับใคร

การทำอิ๊กซี่ ICSI เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ดังนั้นผู้ที่เหมาะกับการทำอิ๊กซี่จึงมีดังนี้

  • คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เซลล์ไข่จะเริ่มไม่ได้คุณภาพ ทำให้มีภาวะมีบุตรยาก
  • คุณแม่ที่มีผนังเซลล์ไข่หนาผิดปกติ ทำให้อสุจิเจาะเซลล์ไข่เพื่อเข้าไปปฏิสนธิได้ยาก
  • คุณแม่ที่มีความผิดปกติของท่อรังไข่ตีบตัน ภาวะตกไข่ผิดปกติ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
  • คุณแม่ที่เคยมีประวัติแท้งบุตรมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป
  • คุณแม่ที่เคยมีประวัติตั้งครรภ์ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมมาก่อน
  • คุณแม่และคุณพ่อที่มีโรคทางพันธุกรรม และอาจกำเนิดลูกที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • คุณพ่อที่มีเชื้ออสุจิไม่ได้คุณภาพ จำนวนเชื้ออสุจิน้อย หรือเคยผ่านการทำหมันมาแล้ว (กรณีนี้สามารถผ่าตัดนำอสุจิออกมาได้)
  • คุณแม่และคุณพ่อที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
  • คุณแม่และคุณพ่อที่เคยผ่านการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ

การเตรียมตัวของพ่อแม่ก่อนทำ ICSI

การเตรียมตัวของคุณแม่ก่อนทำ ICSI

  • เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายสำหรับประเมินความพร้อมของการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำอิ๊กซี่ ICSI เช่น การตรวจฮอร์โมน การทำอัลตราซาวด์ เพื่อดูประสิทธิภาพและการทำงานของรังไข่ การตรวจมดลูกเพื่อดูโพรงมดลูก เป็นต้น
  • เตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด และมีวิธีจัดการกับความเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • งดเครื่องดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับการรักษาอย่างน้อย 3 เดือน
  • หากมีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาใด ๆ ในช่วงก่อนเข้ารับการรักษาต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเตรียมตัวของคุณพ่อก่อนทำ ICSI

  • งดกิจกรรมทางเพศ งดหลั่งอสุจิประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนเข้าพบแพทย์
  • ระวังการใส่กางเกงและชุดชั้นในที่รัดแน่นเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำอุ่นและการทำซาวน่า
  • เตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด และมีวิธีจัดการกับความเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • งดเครื่องดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับการรักษาอย่างน้อย 3 เดือน
  • หากมีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาใด ๆ ในช่วงก่อนเข้ารับการรักษาต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

ข้อปฏิบัติในการดูแลตัวเองหลังทำ ICSI

หลังเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ ICSI ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จและหลีกเลี่ยงปัญหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากอย่างการยกของ การออกกำลังกายหนัก
  • งดการมีเพศสัมพันธ์และการสวนล้างช่องคลอดในระยะนี้
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และห้ามใช้ยาตัวอื่นนอกจากที่แพทย์สั่งเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดความเครียด
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมากผิดปกติ เลือดออก ปวดท้อง ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

ค่าใช้จ่าย ทํา ICSI ราคาเท่าไหร่

การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำอิ๊กซี่ ICSI ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 160,000-500,000 ขึ้นกับสถานพยาบาล ซึ่งราคาจะค่อนข้างสูงหากเทียบกับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีอื่น ๆ เนื่องจากต้องมีการใช้เครื่องมือ ICSI ที่ราคาแพงมาก นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อน ยุ่งยากกว่าวิธีอื่น ๆ แต่โอกาสสำเร็จการตั้งครรภ์ก็สูงกว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากวิธีอื่น ๆ ค่อนข้างมาก

ทํา ICSI ที่ไหนดี

เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ จ่ายเงินรักษาเพียงรอบเดียว ประหยัดแรงกายแรงใจ การเลือกสถานพยาบาลสำหรับการทำอิ๊กซี่ ICSI จึงสำคัญมาก เรามีเกณฑ์คร่าว ๆ สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

  1. สถานพยาบาลจะต้องได้รับมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย
  2. สถานพยาบาลนั้นจะต้องมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้ายการรักษาภาวะมีบุตรยาก และมีประสบการณ์รักษาด้วยการทำอิ๊กซี่ ICSI
  3. บุคลากรในสถานพยาบาลจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการรักษา สามารถให้คำแนะนำ ตอบคำถามที่สงสัยได้กระจ่าง
  4. เครื่องมือที่ใช้จะต้องมีความใหม่และทันสมัย เพื่อให้เกิดความผิดพลาดจากเครื่องมือน้อยที่สุด
  5. ค่ารักษาภาวะมีบุตรยากจะต้องเหมาะสมกับบริการที่ได้

Q&A รวมคำถามที่คนสงสัยเกี่ยวกับการทำอิ๊กซี่

ทํา ICSI ไม่สําเร็จ ทํา ICSI ไม่ติด เกิดจากอะไร

การทำ ICSI เป็นเพียงวิธีช่วยให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จสูงขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การทำให้ตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ 100% เนื่องจากยังมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • คุณภาพตัวอ่อน ถึงแม้จะมีการคัดเซลล์ไข่และอสุจิมาทำการปฏิสนธิกันแล้วก็ตาม แต่บางครั้งก็อาจได้ตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน เมื่อนำตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์นี้ไปฝังในโพรงมดลูกก็อาจทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวได้
  • ผนังมดลูกอ่อนแอ ถึงแม้จะคัดตัวอ่อนที่แข็งแรงแล้ว แต่หากผนังมดลูกอ่อนแอจนตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้ การตั้งครรภ์ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
  • ฮอร์โมนผิดปกติ ในการตั้งครรภ์เรื่องของฮอร์โมนจำเป็นอย่างมาก อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีหน้าที่ช่วยให้เกิดการสร้างเส้นเลือดสำหรับขนส่งสารอาหารต่าง ๆ ให้กับตัวอ่อน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะส่งผลให้โครงสร้างภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับตัวอ่อนในครรภ์ หากฮอร์โมนเหล่านี้เกิดผลิตผิดปกติก็จะทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัว หรือฝังแล้วไม่สามารถเจริญเติบโตต่อได้นั่นเอง

ทำ ICSI เลือกเพศ ทำลูกแฝดได้ไหม

เพราะกฎหมายในประเทศไทย จึงทำให้ไม่สามารถเลือกเพศได้ แต่หากมีการตรวจพันธุกรรมก่อนก็สามารถรับรู้เพศของตัวอ่อนก่อนนำเข้าไปฝังในโพรงมดลูกได้

สำหรับการทำลูกแฝดด้วยการทำ ICSI ตามหลักสามารถทำได้ด้วยการฝังตัวอ่อน 2 ตัวในโพรงมดลูกพร้อมกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามโอกาสในการตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จของตัวอ่อนทั้ง 2 ตัวมีโอกาสประมาณ 30% เท่านั้น และแฝดที่ได้จากขั้นตอนนี้จะเป้นแฝดเทียมเพราะมาจากไข่คนละใบกันนั่นเอง

ทำหมัน แล้ว ทำ ICSI ได้ ไหม

การทำหมันไม่ได้แปลว่าเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิจะหายไป เพราะฉะนั้นถึงแม้จะทำหมันแล้วแต่การทำ ICSI ก็สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ เพราะการทำ ICSI สามารถดึงเซลล์ไข่และอสุจิออกมาที่รังไข่และถุงอัณฑะโดยตรงได้เลย

ข้อสรุป

การทำอิ๊กซี่ ICSI เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีการพัฒนามาจากการทำเด็กหลอดแก้ว IVF ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จสูงกว่าวิธีอื่น ๆ หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่อยากมีลูก แต่มีลูกยาก ลองวิธีไหนแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ลองเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อทำ ICSI ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการตั้งครรภ์ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก beyondivf, tsood.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน