นางสาวปิยธิดา กันปาน นักวิเคราะห์ธุรกิจ ฝ่ายโครงสร้างและระบบธุรกิจบริการ

ผู้เขียนบทความ “First Momentum” ระบบนิเวศตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทย สู่ ความท้าทายต่อการกำกับดูแลการแข่งขัน

ปัจจุบันกระแสโลกให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ทำให้แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งภาครัฐมีนโยบายปรับทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) โดยต่อยอดจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ แต่ในการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จะต้องเกิดการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจจะพิจารณาจากอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจริงต่อตลาดภายประเทศ เพราะอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าจะกระตุ้นการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ แต่นอกเหนือไปจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังมีองค์ประกอบจากปัจจัยแวดล้อมในตลาดที่เกี่ยวข้อง (Eco – system) ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้างอุปสงค์ในตลาดให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะการปูพรมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging point) ที่มีส่วนสำคัญต่อการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นตลาดที่มีน้ำหนักของต้นทุนล่วงหน้าในการเข้าสู่ธุรกิจค่อนข้างสูงมาก (Up – front investment) ทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดดังกล่าวเพียงไม่กี่ราย เนื่องจากธุรกิจจะถึงจุดคุ้มทุนได้นั้นต้องอาศัยกลไกการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) ดังนั้นกลุ่มทุนที่จะเข้าสู่ตลาดนี้จึงมักเป็นกลุ่มธุรกิจรายเดียวขนาดใหญ่ที่มีความสามารถเพียงพอในการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดได้ ผนวกเข้ากับการได้รับมาตรการอุดหนุนการลงทุนจากนโยบายรัฐที่อาจนำไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบธุรกิจบางรายในอนาคต

จากการใช้มาตรการข้างต้น หากพิจารณาเหตุผลเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม การใช้กลไกตลาดเพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนให้เกิดตลาดอย่างเป็นรูปธรรมอาจจะยังไม่สามารถทำให้เกิดการเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าได้จริง ด้วยเหตุนี้การสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ใช้งานได้ โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศให้กับตลาด หมายความว่า ในระยะแรกเริ่มของตลาดสถานีอัดประจุไฟฟ้าภาครัฐอาจต้องยอมให้เกิดผู้เล่นในตลาดจำนวนน้อยรายหรือเกิดการผูกขาดระยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจสำหรับการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะเมื่อพิจารณาต้นทุนคงที่ในระยะยาวจะเฉลี่ยต่ำลงผ่านกลไกของการประหยัดจากขนาด และส่งผลทำให้เกิดจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าข้ามเมืองเติบโตเร็วขึ้น ตลอดจนขอบเขตพื้นที่ให้บริการในวงกว้างขึ้นและครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลจนนำไปสู่การแข่งขันในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าได้จริง

ตามเจตนารมณ์ในการทำงานภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีความพยายามติดตามและควบคุมธุรกิจในตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดจะไม่ใช่อำนาจในทางมิชอบ และผู้เล่นในตลาดจะมีการแข่งขันกันอย่างเสรีโดยไม่มีเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จากการใช้แนวทางมาตรการการสนับสนุนต่อผู้ประกอบธุรกิจบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของภาครัฐ อาจมีแนวโน้มจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ๆ และที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลทำให้มีผู้ประกอบธุรกิจไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากการใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่จะพิจารณาแนวทางการควบคุมภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าแบบผ่อนปรนมาใช้เป็นหลัก เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดผู้ชนะในตลาดอย่างรวดเร็วที่จะสร้างช่วงเวลาแรก (First Momentum) ให้กับอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของประเทศ ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะถูกพิจารณาใช้งานเพียงระยะเวลาหนึ่งที่เหมาะสมเท่านั้น เพราะเราคงคำนึงถึงบรรยากาศการแข่งขันอันเข้มข้นที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจ
ในตลาดมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่องและตลอดไป

#FirstMomentum #ระบบนิเวศ #รถยนต์ไฟฟ้า #ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทย #กฎหมายการแข่งขันทางการค้า #กขค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน