กรมการพัฒนาชุมชน ชูผ้าไทย จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ภาคเหนือ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.30 น. ที่หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและหัตถกรรม โดยมีนางสาวอาภรณ์ เพชรรัตน์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงานฯ โดยในวันนี้ ได้รับเกียรติจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE คุณจิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล สไตล์ไดเร็กเตอร์นิตยาสาร VOGUE ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษวิทยาลัยอุสาหกรรมสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คุณกฤติน วงค์สถาน แฟชั่นดีไซน์เนอร์จังหวัดลำพูน และนายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกิติพล เวชกุล นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือ นางสาวริตยา รอดนิ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมในงานฯ

นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้ กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส อีกทั้งได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และงานหัตถกรรม โดยการสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในทุกภูมิภาค ให้ร่วมสมัยนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค สร้างวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และสนองตอบต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบมาตรการส่งเสริม และสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตลอดจนส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้ดำรงคงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป

จากการกล่าวรายงานจะเห็นได้ว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้า และหัตถกรรม ได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรม ดีไซเนอร์ นักออกแบบที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ ตลอดทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาร่วมกันให้คำแนะนำ ปรึกษา ที่เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการในครั้งนี้ ซึ่งจะเกิดผลดีเป็นอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ผ่านการพัฒนาตามโครงการฯ ในครั้งนี้ จะสามารถยกระดับ พัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล และหลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน จะได้นำความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ ทันสมัย โดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ ตลอดจนเข้าถึงช่องทางการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมา นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัว และชุมชน ได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

นางสาวอาภรณ์ เพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและหัตถกรรม มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อพัฒนาศักยภาพแก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และงานหัตถกรรม ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
  2. เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม ในการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน

กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 150 กลุ่ม/ราย โดยดำเนินการใน 3 จุด ดังนี้

  1. จุดดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด จำนวน 50 กลุ่ม/ราย ดำเนินการเมื่อในวันที่ 28 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ อาคารอทิตยาทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
  2. จุดดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด จำนวน 50 กลุ่ม/ราย ดำเนินการเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

และ 3. จุดดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด จำนวน 50 กลุ่ม/ราย ที่จังหวัดเชียงรายในวันนี้ โดยการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้า และหัตถกรรม ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ดังนี้

– กิจกรรมที่ 1 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Coaching) ให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้า และงานหัตถกรรม

– กิจกรรมที่ 2 การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และงานหัตถกรรม

การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ วิทยากรที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรม ดีไซเนอร์ นักออกแบบที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ ตลอดทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีผลงาน เป็นที่ประจักษ์ และยอมรับในระดับสากล มาร่วมให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ต่อไป

#กรมการพัฒนาชุมชน

#กระทรวงมหาดไทย

#ผ้าไทยใส่ให้สนุก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน