กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เทิดทูนในพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ทางด้านการฟื้นคืนภูมิปัญญาการถักทอผ้าไทยพื้นถิ่น และการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ในทุกภูมิภาคของประเทศ ให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีให้แก่ช่างทอผ้าและ ครอบครัว และกระจายไปสู่วงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาคของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน​

​สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะและการออกแบบเป็นที่ประจักษ์ ทรงได้รับการยอมรับในระดับสากล พระองค์พระราชทานแนวทางพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ให้แก่กระทรวงมหาดไทย ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนและขยายผลให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง

​หนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริที่สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ชุมชนอย่างมหาศาลนั้นได้แก่ ‘โครงการนาหว้าโมเดล’ ที่มีภารกิจในการฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้า และความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ ซึ่งมีจุดกำเนิดที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัด นครพนม ที่ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้ง ‘กลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศไทย’ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2520 ซึ่งภารกิจหนึ่งของ ‘โครงการนาหว้าโมเดล’ นั่นก็คือ การรวบรวมลวดลายผ้าโบราณในพื้นที่อีสานเหนือหลากหลายลวดลาย ซึ่งแต่ละลวดลายล้วนงดงามไปด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ยาก จะลอกเลียน ที่ได้รับการฟื้นคืน เปรียบดังบทบันทึกทางประวัติศาสตร์บนผืนผ้าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ดำรงคงอยู่

​อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ ‘โครงการนาหว้าโมเดล’ คือการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่างทอผ้าจากชุมชนบ้านนาหว้าร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสาวไหมลงกระบุง ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ และนักออกแบบหลากหลายสาขา เกิดเป็นผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล สร้างสรรค์ขึ้นด้วยสมองและสองมือของช่างทอผ้า ซึ่งเป็นชาวนาชาวไร่ เป็นผืนผ้าสุดวิจิตรที่ถักทอจากเส้นใยและสีย้อมธรรมชาติจากพืชพรรณในชุมชน จัดเป็นผลิตภัณฑ์ ‘กรีนโปรดักต์’ อย่างแท้จริง ด้วยเพราะเป็นผ้าผืนงามที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญยิ่งคือเป็นมิตรต่อผู้ถักทอและผู้สวมใส่








Advertisement

​ด้วยผลลัพธ์ของการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่างทอผ้าในชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และนักออกแบบในหลากหลายสาขา ได้ผสมผสาน ‘ผ้าลายนาค’ และ ‘ผ้าลายต้นสน’ เกิดเป็น ‘ผ้าลายต้นสนนารี’ ซึ่งเป็นผืนผ้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ยาวนานนับพันปี ผ้าลายนี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ศิลปะการถักทอผืนผ้าของไทยจะไม่มีวันล้าสมัย และยังคงมีที่ยืนบนโลกยุคใหม่ได้อย่างภาคภูมิด้วยพระบารมี

​สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฉลองพระองค์และพระภูษาทรง ‘ผ้าลายต้นสนนารี’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘นาหว้าคอลเลคชั่น’ ในการเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่ง ‘ผ้าลายต้นสนนารี’ ผืนนี้ ทำการมัดหมี่ ย้อม และถักทอโดย สมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านนางัว โครงการนาหว้าโมเดล นางสาวจันทร์เพ็ญ วงศรียา เป็นผืนผ้าที่ถักทอขึ้นจากเส้นใยฝ้ายย้อมครามน้ำห้า ทอด้วยเทคนิค 4 ตะกอ ฟืมลายสร้อยพร้าว (ฟืมยีนส์) ออกแบบและตัดเย็บโดย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์ Theatre ด้วยแรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายแบบไทยโบราณที่เรียกกันว่า ‘เครื่องนุ่ง’ และ ‘เครื่องห่ม’ ถวาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายแถบโลกตะวันออกที่นิยมใช้ผ้าทั้งผืนที่มีลวดลายงดงามมามัด พันผูก คล้ายกับผ้านุ่งและโจงกระเบน ตัดเย็บให้เป็นพระภูษาทรงที่ดูคล้ายกับผ้านุ่งมัดเอว ปรับแพทเทิร์นให้มีความเป็นสากล จัดวางจังหวะลายให้อยู่กึ่งกลาง โดยนำเชิงผ้ามาต่อเพื่อเพิ่มความสูงให้กับพระภูษาทรงได้อย่างสง่างามสมพระเกียรติ

​สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ยังทรงพระดำริให้มีการฟื้นฟู ‘การเลี้ยงหนอนไหม’ สำหรับโครงการ ‘นาหว้าโมเดล’ เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถนำเส้นใยจากหนอนไหมไปผลิตผืนผ้าได้ทุกเมื่อตามต้องการ โดยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเส้นใย และยังทรงพระดำริให้มีการฟื้นฟู ‘การสาวไหมลงกระบุง’ ที่เป็นการสาวไหมด้วยมือแบบพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาโบราณในการทอผ้าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จะได้เส้นไหมที่มีเส้นใยเรียบนุ่มลื่น ลดความชื้นที่จะก่อให้เกิดเชื้อราในเส้นไหม และยังเป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ทำให้เส้นไหมไม่ขาดและมีความเงาของเส้นไหมมากกว่าการใช้อุปกรณ์ช่วยสาวไหมทุ่นแรง

​ ‘นาหว้าโมเดล’ จึงเป็นโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ที่มุ่งพัฒนาชุมชนต้นแบบ 6 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นล้วนมีความหลากหลายทั้งทางด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาการทอผ้าที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ มาเข้าร่วมบูรณาการ องค์ความรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านผ้าไทยและนักออกแบบหลากหลายสาขา ฟื้นฟูภูมิปัญญาการถักทอผืนผ้า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การย้อมสีธรรมชาติจากพืชพรรณในชุมชน ให้สามารถแปรรูปผืนผ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สู่การสร้างสรรค์แบรนด์เพื่อการตลาดในระดับสากล

​กระทรวงมหาดไทย นำโดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงได้จัดทำ ‘หนังสือนาหว้าโมเดล’ ฉบับสมบูรณ์และฉบับดิจิทัล เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ และยังเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ในการพัฒนาชุมชนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ สร้างแรงบันดาลใจ และให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์งานได้อย่างไม่จำกัด และยังเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน