จากกรณีที่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จํากัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ได้ส่งหนังสือข้อโต้แย้งถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ กรณีการบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) การเรียกให้ส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินแก่กรมธนารักษ์ พร้อมส่งสําเนาไปถึง นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม,ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมชลประทาน,

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, คณะกรรมการที่ราชพัสดุ, เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค, ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า จากการสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานต่าง ๆที่ได้รับสำเนาหนังสือโต้แย้งดังกล่าว ในภาพพรวมแล้ว หน่วยต่าง ๆ ให้ความคิดเห็นที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า ต้องรอดูท่าทีของอธิบดีกรมธนารักษ์ ว่าจะมีการดำเนินในเรื่องนี้อย่างไร

พร้อมกันนี้ แหล่งข่าวในกระทรวงการคลัง ให้มุมมองว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นว่า จะเป็นโอกาสในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปตามขั้นตอนกฏหมาย มีความโปร่งใส ชอบธรรม โดยเฉพาะการที่อีสท์วอเตอร์ ทำหนังสือส่งถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้มีการนำเสนอแนวทางและขั้นตอนการส่งมอบ – รับมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำ โดยได้รับความเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อประกอบการพิจารณาของกรมธนารักษ์ ใน 3 แนวทาง ได้แก่ หนึ่ง การวางแผนงานและขั้นตอนการส่งมอบทรัพย์สิน ระยะเวลา รวมทั้งการแก้ไขปัญหา อุปสรรคและข้อขัดข้องต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน การเปลี่ยนแปลงและขอ ใช้ระบบไฟฟ้า การกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงระบบและอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการท่อส่งน้ำ ของแต่ละฝ่ายเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ รวมทั้งความพร้อมและกําหนดเวลา ของการส่งมอบ ซึ่งเป็นระยะเวลาเริ่มต้นดำเนินการในเชิงพาณิชย์ของเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ

สองการแสดงความพร้อมและการได้รับอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ให้ถูกต้องตามกฎหมายของเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือก เช่น การได้รับอนุญาตให้ใช้และได้รับการจัดสรรน้ำดิบจาก กรมชลประทาน การได้รับอนุญาตและติดตั้งระบบไฟฟ้า การเข้าทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับผู้ใช้น้ำ การต่อท่อของผู้ใช้น้ำเข้ากับท่อน้ำหลักของกระทรวงการคลังและการติดตั้งมาตรวัดน้ำ เพื่อให้การสูบส่งและการซื้อขายน้ำดิบ ให้แก่ผู้ใช้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และ สาม การดำเนินการและกำหนดระยะเวลา ขั้นตอนและวิธีการตัดแยกระบบท่อส่งน้ำของ กระทรวงการคลังและของบริษัทฯ ออกจากกัน โดยบริษัทฯ ขอเสนอให้หน่วยงานรัฐที่ได้ส่งมอบระบบท่อส่งน้ำ สายหลักภาคตะวันออกให้แก่บริษัทฯ บริหารจัดการตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและได้รับ ผลกระทบในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก เข้าร่วมพิจารณากำหนดวิธีการและขั้นตอน การตัดแยกระบบท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลังและของบริษัทฯ ออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ใช้น้ำ และภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“ เรื่องนี้ หากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ใช้น้ำ ประชาชนในพื้นที่อย่างมากส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ EEC ด้วย อาจนำไปสู่การสร้างความมั่นใจในการลงมาทุน อีกทั้งทุกคนในพื้นที่ ต่างต้องการให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่อง หากเกิดการตัดระบบท่อส่งน้ำใน 2 โครงการจริง ๆ ย่อมไม่ส่งผลดีกับทุกฝ่าย รวมถึงประเทศไทยแน่นอน” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน