ร่วมเป็นเครือสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ-ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ สร้างโอกาสด้านอาชีพ-อาหารปลอดภัย-หมู่บ้านจัดการตนเอง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่ รร.ศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 8 อปท. ได้แก่ อบต.ศรีสำราญ เทศบาลบุสูง อ.วังหิน เทศบาลตำบลสิ อบต.ห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ อบต.บึงมะลู อ.กันทรลักษ์ อบต.ผักแพว อ.กันทรารมย์ อบต.อีเซ และ อบต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขับเคลื่อนงาน ภายใต้ “โครงการสานพลังภาคีเครือข่ายท้องถิ่นน่าอยู่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ ในฐานะ “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” เข้าร่วม

นายสิทธิชัย วิลัยเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อบต.ดวนใหญ่ ร่วมขับเคลื่อนงานกับ สสส. ในประเด็นการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2558 โดยเฉพาะประเด็นอาหารปลอดภัย และผู้สูงอายุ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพของคนในชุมชน โดยในปี 2565 ชาวศรีสะเกษเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 300 คน คิดเฉลี่ยเท่า 1 คน/วัน สาเหตุหลักมาจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขร่วมกัน อบต.ดวนใหญ่ พร้อมเป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับ 8 อปท. ขับเคลื่อนการทำงานในมิติสุขภาพ 5 ประเด็นหลัก 1.พัฒนารูปแบบการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี 2. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 3. สร้างโอกาสด้านอาชีพ ลดจำนวนผู้ว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส 4. สร้างระบบอาหารปลอดภัย 5. หมู่บ้านจัดการตนเอง ซึ่งทั้ง 8 อปท. ต้องทำงานกับประเด็นท้าทายในชุมชน หลังจากใช้เครื่องมือสำรวจข้อมูล พบต้นทุนในพื้นที่ จะทำให้พบว่ามีประเด็นใดที่ต้องขับเคลื่อน สร้างสุขภาวะให้กับชุมชนท้องถิ่นของตนเอง

นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ กล่าวว่า อบต.ดวนใหญ่ ทำงานจากฐานข้อมูลที่มีอยู่จริง ทำให้รู้ว่ามีศักยภาพ และแผนต่อยอดการทำงานต่อไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น ให้คนที่กลับภูมิลำเนาช่วงวิกฤตโควิด-19 มีอาชีพเลี้ยงกบ ส่งเสริมให้ทำตลาดขายกบ ส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ และนำผลิตผลจากเกษตรอินทรีย์ เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารในโฮมสเตย์ รวมทั้งการทำโฮมสเตย์ก็ต่อยอดพัฒนาคุณภาพ จนได้มาตรฐานระดับชาติ และระดับเอเชีย สะท้อนให้เห็นว่า มีความพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับอีก 8 อปท.เครือข่าย ในอนาคต เชื่อว่าหลังจาก 8 อปท.เครือข่าย เก็บข้อมูลในพื้นที่ของตัวเองแล้ว จะเห็นถึงศักยภาพของคนในชุมชน และทรัพยากรที่มี นำมาร่วมกันพัฒนา และขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพชุมชนท้องถิ่นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายประกาศิต กายะสิทธิ์ กล่าวว่า สสส. ได้หนุนเสริม สนับสนุนองค์กรหลักในพื้นที่ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ โดยการนำชุดความรู้ต่าง ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือให้ชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน ใช้ข้อมูลเพื่อสำรวจดูทุนเดิมในชุมชนของตนเองว่า มีอะไรอยู่บ้าง มีปัญหาอะไร เพื่อช่วยกันจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงตามความต้องการอย่างเป็นระบบ เกิดการแก้ไขที่สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม อบต.ดวนใหญ่ ทำงานร่วมกับ สสส ตั้งแต่ปี 2558 เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว จนสามารถจัดการชุมชนของตัวเองได้อย่างดี ชุมชนมีความเข้มแข็ง สู่การสานพลังชุมชน 8 อปท. ร่วมกันเป็นเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นการส่งต่อพลังของชุมชนท้องถิ่น ขยายวงกว้างเป็นเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมหนุนเสริมการขับเคลื่อนสู่สุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน