กรมส่งเสริมการเกษตรตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรทั่วประเทศใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเป็นสินค้าเกษตรคุณภาพ (พรีเมี่ยม) มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่าต่อการลงทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเกษตรกรเป็นกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งแตกต่างจากการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบเดิมอย่างมาก โดยในรูปแบบเดิมนั้น เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรภาพรวม (ภาพกว้าง) และใช้รูปแบบการบรรยายในการถ่ายทอดความรู้ลงสู่เกษตรกร จึงไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำนวนมากยังคงต้องพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐเป็นหลักอยู่ อีกทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผลิตได้อย่างยั่งยืน แต่การถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกรไม่เป็นเช่นนั้น

กรมส่งเสริมการเกษตรได้เน้นไปที่เรื่องหรือประเด็นการเรียนรู้ต่าง ๆ ต้องเกิดจากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร ให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเป็นผู้กำหนดหัวข้อหรือหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกัน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรเกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเริมการเกษตร อธิบายถึงความแตกต่างที่โดดเด่นของโรงเรียนเกษตรกร หรือ Farmer Field School : FFS ที่เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ใช้ในการส่งเสริมการเกษตรใช้การผสานกันอย่างเหมาะสมระหว่างวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ

โรงเรียนเกษตรกร คือ กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และปฏิบัติด้วยตนเองในแปลงพืชของเกษตรกร เริ่มตั้งแต่การวางแผน สำรวจ วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง ตลอดกระบวนการเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว เป็นการให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีและเลือกวิธีการจัดการต่าง ๆ ที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วยตนเอง จนสามารถขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นด้วยกันเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เป็นวิทยากรพี่เลี้ยง ช่วยอำนายความสะดวกในการจัดการ และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันตลอดกระบวนการ

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตร มั่นใจในความสำเร็จของโรงเรียนเกษตรกรต่อกระบวนการส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้คำตอบว่า เพราะกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ประกอบด้วย

6 ปัจจัย ที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ หนึ่ง ประเด็นการเรียนรู้ต้องเกิดจากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร สอง มีทีมวิทยากรพี่เลี้ยงที่มีศักยภาพ สาม เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ สี่ มีการเรียนรู้ ทดสอบ พิสูจน์ทราบจากแปลงเรียนรู้ ห้า มีการประมวลผลและตัดสินใจด้วยเกษตรกรเอง และ หก เกษตรกรมีการปฏิบัติต่อเนื่อง และขยายผลสู่ชุมชนรอบข้าง

สำหรับการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กล่าวถึงผลงานความสำเร็จว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เปิดโรงเรียนเกษตรกรชั้นนำให้สามารถเป็นแบบอย่างการดำเนินการตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 79 แห่ง ทั้ง 77 จังหวัด พร้อมพัฒนาเป็นโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบพืชเศรษฐกิจสำคัญ จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ผัก ทุเรียน อะโวคาโด มันสำปะหลัง มะพร้าว และดาวเรือง สำหรับใช้ในการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เตรียมขยายผลไปพืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้

พร้อมกันนี้ ยังได้พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้เป็นวิทยากรต้นแบบ หรือ Master Trainer : MT ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้สามารถไปขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนเกษตรกรในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้ จำนวน 120 คนโดยการพัฒนาเกษตรกร ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่การเกษตร โดยมีแผนการดำเนินการต่อเนื่อง ระหว่างปี 2567 – 2570 โดยอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามเป้าหมายที่จะดำเนินการในช่วงระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า กรมส่งเสริมการเกษตร จะมุ่งให้เกษตรกรใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช ครอบคลุมพื้นที่ 882 อำเภอ

โดยแผนที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย 4 ด้านที่สำคัญ โดยด้านที่ 1 สร้างการรับรู้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องผ่านสื่อและช่องทางต่าง ๆ ให้เข้าถึงง่าย รวดเร็ว ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ด้านที่ 2 พัฒนาเจ้าหน้าที่เป็นวิทยากรต้นแบบ เพื่อนำประสบการณ์ไปสร้างทีมวิทยากรที่เลี้ยง (Facilitator) ให้มีความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนงานตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ส่วนด้านที่ 3 ผลักดันกลุ่มเกษตรกรให้มีการใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร โดยให้มีโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบพืชเศรษฐกิจสำคัญครอบคลุมพื้นที่ 882 อำเภอ ขับเคลื่อนผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร ข้อมูล ณ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3,500 ศูนย์ และเตรียมขยายผลไปกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ เช่น Smart Farmer, Young Smart แปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านศัตรูพืช คุณภาพผลผลิต และการพัฒนาสินค้าเกษตรด้านพืช ให้ครอบคลุมทุกมิติตามแผนการพัฒนาการเกษตร ยุทธศาสตร์ และนโยบาย BCG Model ต่อไป และด้านที่ 4 พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการในภูมิภาคให้สามารถใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมที่ได้มาตรฐานใช้ศึกษาเรียนรู้ โดยมีแปลงเรียนรู้ แปลงสาธิต ทดสอบ ทดลองการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญของแต่ละพื้นที่ พร้อมมีห้องจัดแสดงที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง (DOAE FFS ROOM) เพื่อรองรับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้เป็นวิทยากรต้นแบบและวิทยากรพี่เลี้ยง ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการเตรียมการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรได้ตามเป้าหมายต่อไป

“สิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งหวังในการขับเคลื่อนกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร คือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ขั้นตอนสำคัญอันดับต้น ๆ คือต้องการพัฒนาเจ้าหน้าที่โดยใช้หลักสูตรวิทยากรมืออาชีพ หรือ Training of Trainers : TOT จนสามารถยกระดับให้เป็นวิทยากรต้นแบบ จากนั้นวิทยากรต้นแบบจะนำกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรไปถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด และอำเภอ เพื่อสร้างทีมวิทยากรพี่เลี้ยง ต่อจากนั้นทีมวิทยากรพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ตลอดกระบวนการผลิตจนเกษตรกรสามารถเป็นวิทยากรเกษตรกรต้นแบบ หรือ Farmer of Trainers และเกษตรกรนำกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรไปพัฒนาการผลิตของตนเองสู่สินค้าเกษตรพรีเมี่ยมที่ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ช่วยให้เกิดการผลักดันและการพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ และยั่งยืน” นายเข้มแข็ง กล่าวในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน