พช. จับเทรนด์ “สังคมสูงวัย” ดันสินค้า OTOP เพื่อสุขภาพ บุกตลาดคนเมือง

เวลานี้ หากเราลองมองไปรอบตัวแล้วพบแต่ “ผู้สูงอายุ” ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรรวมนับเป็น “สังคมผู้สูงวัย” (Aging Society) แต่หากมากกว่า 20% เรียกว่า “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) โดยในปี 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่า “ประเทศไทยได้เข้าสูงสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว”ดังนั้น จึงไม่แปลกที่กลุ่มธุรกิจสุขภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จะเติบโตได้ดีทั้งในไทยและทั่วโลก สวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา กลายเป็นเมกะเทรนด์ (Mega Trend) สำคัญที่ผู้ประกอบการและ SMEs ไม่ควรพลาด

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าในฐานะหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนอย่างจริงจัง ได้เห็นความสำคัญของโอกาสนี้ จึงส่งเสริมสนับสนุนช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในด้านสุขภาพ นำผลิตภัณฑ์มาจัดจำหน่ายภายในงานมหกรรมสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ “ไทยแลนด์ เฮลท์แคร์ 2023 : เกษียณสโมสร” โดยเครือมติชน จัดระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2566 ณ ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

เรียกได้ว่าจัดใหญ่ ยกตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP มาไว้ใจกลางเมือง ดึงเม็ดเงินกลับสู่ชุมชน และที่สำคัญคือ การนำชาวบ้าน – ผู้ผลิตสินค้า มาพบปะกับกลุ่มลูกค้านั้น ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง ส่งเสริมให้เกิดไอเดีย และการต่อยอดพัฒนาสินค้าได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

พัฒนาคน ควบคู่ผลิตภัณฑ์ดันคุณภาพ OTOP

กว่า 20 ปี ของการดำเนินโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้มีการพัฒนาสร้างสรรค์และต่อยอดภูมิปัญญาที่มีอยู่ไปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านความรู้ เทคโนโลยี ทุน การบริหารจัดการ ตลอดจนการเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตลอดการเดินทางอันยาวนานของ OTOP ต้องยอมรับว่า อาจมีผลิตภัณฑ์บางส่วนที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน รูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ยังไม่โดดเด่น ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่ง พช. นั้นได้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์อย่างมาก ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญเช่นกัน








Advertisement

นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ซื้อจะได้รับและยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ การสร้างกระบวนคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ให้สามารถมีกระบวนการคิด การผลิตสินค้า เข้าใจเส้นทางของผู้บริโภคตั้งแต่ก่อนจะเป็นลูกค้า จนตัดสินใจซื้อสินค้า (Customer Journey) ต้องศึกษาตลาดที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญชาวบ้านหรือผู้ผลิตต้องมีการสร้างกระบวนการคิดเพื่อการเติบโต (Growth Mindset) ที่สามารถทลายข้อจำกัดที่มีต่อการพัฒนา และการพัฒนาทักษะการคิดเพื่อให้การกำหนดราคาสินค้าเป็นไปตามจริง

เน้นการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็น “ผู้ประกอบการยุคใหม่” ที่ก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการยุคใหม่จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต สามารถแข่งขันในระดับเวทีการค้าโลกได้

ซึ่งทั้งหมดนั้นจำเป็นต้องมีความพร้อมด้านทัศนคติ ทักษะความสามารถ และความรู้สำหรับการรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ของเทคโนโลยี

สร้างการรับรู้ – บุกตลาดคนเมือง ดึงเงินล้านกลับสู่ชุมชน

การเชื่อมโยง “ผู้ผลิต” ไปยัง “ผู้ซื้อ” ที่ตรงกลุ่ม เท่ากับการเพิ่มโอกาสในการซื้อขายมากยิ่งขึ้นพช. เห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมช่องทางการตลาดภายใต้งาน “เฮลท์แคร์” ซึ่งเป็นงานมหกรรมที่รวมกลุ่มคนผู้รักสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม

ผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนช่องทางการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP ในด้านสุขภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการดำเนินชีวิตแบบ New Normal และหากผลิตภัณฑ์นั้นเป็นที่พึงพอใจ ก็อาจเกิดการซื้อซ้ำผ่านช่องทางออนไลน์ที่แต่ละร้านค้านั้นมีรองรับเช่นกัน

โดยการสนับสนุนด้านช่องทางการจำหน่ายนี้ ทาง พช. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 – 2565

เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการไปแล้วทั้งสิ้น 1,991,195 บาท และสำหรับในปี 2566 ยังคงตอกย้ำความสำเร็จในการเผยแพร่การรับรู้ผลิตภัณฑ์ OTOP กับกลุ่มลูกค้าคนเมือง และสร้างการเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในด้านสุขภาพ (และด้านอื่นๆ) จำนวน 20 ราย/กลุ่ม เข้าร่วมจำหน่ายในงาน อาทิ “กาแฟจีฟี่” กาแฟไร้น้ำตาล ทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ จ.ชุมพร, ยาสีฟันสมุนไพร “ภูมันตรา” จ.กระบี่, ผลิตภัณฑ์จากงา ครีมถั่วลายเสือ งาม้อนคั่ว ร้าน “ละเอียดลออ” จ.เชียงใหม่, “น้ำมันเหลือง ตราโกลด์ครอส” ยาแผนโบราณ ใช้บรรเทาอาการหวัด สรรพคุณหลากหลาย จ.ตราด, “น้ำบุษย์” ผลิตภัณฑ์สกัดจากสมุนไพรช่วยบำรุงผิวกาย จ.สมุทรปราการ, สเปรย์ปรับอากาศเมืองโอ่ง เติมความสดชื่น จาก “แก่นไพลิน” จ.ราชบุรี เป็นต้น

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตลอดการจัดงานทั้ง 4 วัน มีผู้เข้าร่วมกว่า 40,000 คน ช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้ จากการได้รับการส่งเสริมช่องทางการตลาดไปไม่น้อย ทั้งยังสนับสนุนให้ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจ ฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน