ปลัดมหาดไทยเยี่ยมชมสวนเกษตร ดร.สมหมาย วันสอน พร้อมยกย่องเป็นบุคคลต้นแบบของโลก และเตรียมเชิดชูเกียรติด้วยการขยายผลตัวอย่างความสำเร็จของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

วันนี้ (24 ก.ค. 66) เวลา 13.00 น. ที่สวนเกษตร ดร.สมหมาย วันสอน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารการจัดการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นางสาวสิริมา วัฒโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมเยี่ยมชมสวนเกษตร ดร.สมหมาย วันสอน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมหมาย วันสอน และ ดร.เพ็ญศรี วันสอน และคณะ ให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยนายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นางมัลลิกา เกษกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นายนพ พงศ์ ผลาดิศัย นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นที่ด้วย

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับมอบเกียรติบัตรคนดีของแผ่นดินจาก ดร.สมหมาย วันสอน ประธานมูลนิธิบัณฑิตคืนถิ่น และเยี่ยมชมพื้นที่ปลูกป่าในเนื้อที่ดินกว่า 200 ไร่ ที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด อาทิ ทุเรียนภูเขาไฟ ไม้ยางพารา ลำไย มะขาม มะไฟ ส้มโอ ขนุน พะยูง มะค่า ยางนา กฤษณา สัก ตะเคียน ที่ถือเป็นต้นแบบของเกษตรกรผู้ปลูกป่าที่มีการสอดแทรกแนวคิดการทำเกษตรที่แตกต่าง พร้อมเพิ่มมูลค่าที่เหมาะกับการศึกษา การทำเกษตรกับธรรมชาติ และปรัชญาชีวิตการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง อยู่แบบพึ่งพิงธรรมชาติอย่างลงตัว พร้อมทั้งร่วมปลูกต้นมหาดไทย (ต้นมะหาด) ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลกินได้ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใบ ยอด ดอก และเปลือก มีสรรพคุณทางยา เป็นยาขับพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน หรือใช้ละลายน้ำ ทาแก้ผื่นคัน แก่นไม้เนื้อดี โตเร็ว นำไปสู่การผลิตข้าวของเครื่องใช้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณท่าน ดร.สมหมาย วันสอน และ ดร.เพ็ญศรี วันสอน ที่ให้โอกาสชาวมหาดไทยได้มาเป็นลูกศิษย์ เพราะสิ่งที่ท่านเป็น “ครู” นี้ ช่วยต่ออายุให้โลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการเดินตามรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระ ดั่งพระราชเสาวนีย์ที่ได้พระราชทานไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินทรงงานเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นเขาลงห้วย ทำให้ประชาชนได้ร่วมกันปลูกป่า ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของป่าไม้ ซึ่งอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ได้ลุกขึ้นมาปิดทองหลังพระจนทองล้นไปถึงหน้าพระ นั่นคือการปลูกป่าไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ด้วยเวลาถึง 34 ปี จากป่าไม้ที่ใหญ่ กลายเป็นป่าไม้ที่ใหญ่มาก 200-300 ไร่

“ในวันนี้คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจที่จะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมการปกครอง และกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านการปกครอง การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเสริมสร้างศักยภาพของเด็ก เยาวชน และประชาชน ด้วยการร่วมสมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 ซึ่ง อปท.สามารถจัดสรรงบประมาณในการศึกษา ฝึกอบรม สนับสนุนกิจกรรมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งต้นไม้ ขยะ น้ำ อากาศ ผ่านกลไกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก และกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่เป็นหน่วยรับผิดชอบด้านการจัดทำผังเมืองของประเทศ และล่าสุดเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำ “ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำในหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ซึ่งขณะนี้ทำครบ 76 จังหวัดและจะได้เผยแพร่สร้างการรับรู้ให้กับภาคีเครือข่ายได้รับทราบและนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเมื่อประชาชนมีความสุข ประเทศชาติก็จะเกิดความมั่นคง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวอีกว่า ดร.สมหมาย วันสอน และ ดร.เพ็ญศรี วันสอน นอกจากท่านเป็นครูสอนการปลูกป่าด้วยการทำให้เห็น ให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ท่านยังเป็นครูที่สอนให้เราเป็นคนมีจิตอาสา นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 34 ปีที่ทุ่มเทเป็นต้นแบบ ซึ่งท่านไม่ได้เป็นเพียงคนดีของจังหวัดศรีสะเกษ ไม่ได้เป็นเพียงคนดีของประเทศไทย แต่ท่านเป็นคนดีของโลก ที่หน่วยงานทั่วโลกเขาชื่นชมยกย่อง และมอบรางวัลประเภทต่าง ๆ

“เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติท่าน ดร.สมหมาย วันสอน “ด้วยการกระทำ” กระทรวงมหาดไทย ขอนำสิ่งที่ท่านได้ทำเป็นต้นแบบ ไปขยายผลให้ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล โดยขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำผลสำเร็จนี้ ทำให้ทุกส่วนราชการ ทุกอำเภอ ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการทุกสังกัด ดำเนินการ 1) ให้ทุกหมู่บ้านค้นหาต้นไม้ต้นใหญ่ที่สุดของหมู่บ้านแล้วขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้ 2) ค้นหาพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ที่มีอายุร้อย ๆ ปี ตามพระราชดำริ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง (ป่า 5 ระดับ) 3) สร้างสรรค์ให้สถานที่ที่เป็นที่ทำงานของชาวมหาดไทย ทั้งศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. ด้วยการปลูกต้นไม้ที่มีไม้อายุยืนยาว เช่น ลำดวน มะหาด ยางนา ยางกราด (สะแบง) จำนวนต้นตามความเหมาะสม และน้อมนำโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มาประยุกต์ เพื่อให้ต้นไม้ที่มีอยู่กลายเป็นโรงเรียนด้านพฤกษศาสตร์ รวมถึงนำโครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพรมาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และ 4) ให้สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำต้นแบบสิ่งที่ดีนี้ ขยายผลไปยังท่านผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดได้ทำไปพร้อมกับจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า มหาวิทยาลัยป่าไม้แห่งนี้ได้บูรณาการงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งสามารถน้อมนำพระดำริเรื่อง Sustainable Fashion ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการย้อมสีธรรมชาติ มาประยุกต์ในการปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติ เป็นป่าไม้สีธรรมชาติ นอกจากนี้ ในเรื่อง “บัณฑิตคืนถิ่น” ยังสอดคล้องกับพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่อง “คลังสมองของแผ่นดิน” และพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงตรัสไว้ว่า “เราจะเกษียณอายุราชการได้ แต่อย่าได้เกษียณจากการทำประโยชน์ให้กับสังคมและส่วนรวมตามกำลังที่มี” เพื่อทำให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นมหานครแห่งความยั่งยืนด้วยการนำของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมมูลนิธิบัณฑิตคืนถิ่นตลอดไป

ดร.สมหมาย วันสอน กล่าวว่า ตนมีแนวคิดว่า “คนรุ่นเราต้องนำป่ากลับคืนสู่แผ่นดิน” และเมื่อสมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นก็ได้มีโอกาสรับพระราชทานทุนภูมิพลจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการที่จะต้องเพิ่มพูนความคิดให้มากยิ่งขึ้น และยิ่งเมื่อได้ยินส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงที่ว่า “…แผ่นดินแล้ง พ่อต้องปลูกต้นไม้ไว้ให้เรา…” ก็เกิดคำถามในใจว่า ทำไมเราไม่ปลูกต้นไม้ให้พ่อบ้าง เราต้องปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน

“ผมเริ่มทำเกษตรเมื่อปี 2532 ในรูปแบบ Weekend เพราะในช่วงเวลานั้นตนยังเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จึงต้องใช้วันเสาร์-อาทิตย์ ปลูกทุกเมื่อ ทุกเวลาที่อยากปลูก โดยเย็นวันศุกร์นั่งรถกลับมา วันเสาร์ปลูก และเย็นวันอาทิตย์กลับกรุงเทพฯ ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 33 ปี แต่เป็นเกษตรกร 34 ปี โดยเป้าหมายของการมาทำการเกษตร ไม่ใช่เพื่อร่ำรวย แต่ต้องการหาคำตอบให้พ่อแม่พี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ที่เป็นหนี้สิน และได้จัดทำโครงการบัณฑิตคืนถิ่นคู่กันไป เพราะศรีสะเกษบ้านเรา มีคนเก่ง แต่ทิ้งถิ่นไปหมด ดังนั้น “ถ้าทรัพยากรมนุษย์คือกำลังสำคัญของการพัฒนา คนเหล่านี้แหละคือกำลังสำคัญ เป็นกำลัง เป็นสมอง เป็นสองมือให้ท้องถิ่น ไม่ใช่ไปอยู่ที่โรงงาน ไปเป็นลูกจ้างเขา” จังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่กว่า 8,800 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เราไม่มีสมองและสองมือ เพราะเราทิ้งถิ่นไปหมด ผมจึงริเริ่มการเป็นบัณฑิตคืนถิ่น กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน” ดร.สมหมายฯ กล่าว

ดร.สมหมายฯ กล่าวต่ออีกว่า ดินที่ศรีสะเกษเป็นดินที่สมบูรณ์ เพราะได้อิทธิพลจากภูเขาไฟเดิม ทำให้มีสิ่งดี ๆ คือ 1) ดินดี 2) น้ำดี (น้ำฝนและน้ำใต้ดิน) 3) ผลผลิตดี โดยพื้นที่ในบริเวณศูนย์เรียนรู้นี้ แต่เดิมเป็นพื้นที่ว่าง เกษตรกรนิยมปลูกพืชล้มลุก จำพวกข้าวโพด มันสำปะหลัง ฟัก แฟง คนจึงมาให้ความรู้และเปลี่ยนเป็นเกษตรยืนต้น เพราะได้ให้แนวคิดว่า พืชล้มลุกไม่เป็นไร แต่คนปลูกจะล้มไม่ลุก จึงเปลี่ยนเป็นการเกษตรพืชยืนต้น 100% มีไม้ผล ไม้ยางพารา ไม้เศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งตนขอชื่นชมแนวความคิดของท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้กล่าวไว้ว่า “ในการที่เราจะเปลี่ยนคน เราต้องทำให้ดู เมื่อเราทำให้ดู เขาก็จะทำตาม” เช่น ตัว A ที่ท่านว่า คือ Agent ที่นี่ก็มีเกษตรกร มีผู้นำท้องถิ่น และมีคนมาศึกษาดูงานอบรมปีนึง 3-4 พันคน และที่นี่ก็เป็นศูนย์แก้จน ทุกคนที่ยากจนเราจะช่วย ส่งเสริมให้เขามีแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพ อาทิ ทำนา 1 ไร่ได้ 1 ตัน ปลูกข้าว 1 กอให้แตก 50 รวง ส่งเสริมให้เขามีงาน มีอาชีพ มีรายได้ สามารถดูแลตนเองให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และอีกประการหนึ่งคือการปลูกไม้ยืนต้นจำนวนมากก็จะส่งผลให้เกิดคาร์บอนเครดิตเพื่อที่จะส่งเสริมการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอีกด้วย

ด้าน ดร.เพ็ญศรี วันสอน กล่าวว่า 35 ปีที่ผืนดินบริเวณนี้ที่ ดร.สมหมาย พยายามสร้าง ตอนนี้ต้นไม้เราโตมาก และเครือข่ายก็ขยายส่งไปเรื่อย ๆ 35 ปีเราส่งต่อความรัก ความผูกพันต่อป่า ต่อมาตุภูมิ ผ่านบัณฑิตคืนถิ่นและคนที่มาเยี่ยมชม ดูงาน เหนือสุดจรดใต้สุด ตะวันตกจรดตะวันออก รวมถึงในต่างประเทศ ขอเรียนว่าเป็น 35 ปีที่ไม่เคยมีวันหยุด ไม่เคยมีวันท้อ เราต้องการส่งต่ออุดมการณ์ความรักผืนป่า เพราะทุกวันนี้พิสูจน์แล้วว่า ป่าให้อะไรกับเรามาก และถึงเวลาที่เราจะต้องให้อะไรคืนสู่ป่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน