กรมวิทย์ฯ เดินหน้าโครงการ “การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (RLU)” เฟส 2 หวังให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด เผยหากมีการใช้แล็บอย่างสมเหตุผลจะสามารถประหยัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนา “การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU)” เพื่อเป็นเวทีให้โรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมโครงการในเฟส 2 ได้รับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งทราบถึงแนวทางการขับเคลื่อนในระดับเครือข่าย และระดับประเทศ พร้อมมอบเกียรติบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่ภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จโดยมีนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธี และชี้แจงนโยบายการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (RLU) โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะกรรมการจัดทำแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล ผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ กองบริหารการสาธารณสุข ผู้บริหารและผู้แทนจากราชวิทยาลัย สมาคมแพทย์ สภาเทคนิคการแพทย์ สมาคมเทคนิคการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ ในประเทศไทย สภากาชาดไทย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และโรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้ง Onsite และ Online จากทั่วประเทศ กว่า 800 คน ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า จากหลักการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ต้องมีความสมเหตุผล ไม่สั่งมากเกินความจำเป็น (Overutilization) หรือน้อยเกินไป (Underutilization) ซึ่งทั้งสองกรณีล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งผู้ป่วย และระบบสุขภาพ ด้วยความตระหนักในปัญหาดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัย สมาคมแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ยกร่างแนวทางการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล หรือ RLU เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้แนวทาง RLU ประกอบการตัดสินใจในการสั่งตรวจแล็บได้อย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วย เบื้องต้นกำหนดไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคติดเชื้อ โรคความดันโลหิตสูง การ Checkup โดยเริ่ม Kick off โครงการเฟส 1 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ดำเนินการใน 23 โรงพยาบาลนำร่องครอบคลุม 12 เขตสุขภาพ ทั่วประเทศ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโรงพยาบาลนำร่องได้มีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและระบบสุขภาพ เช่น การปรับระบบ HIS ของโรงพยาบาล ให้มีการสร้างระบบ Pop up แจ้งเตือนแพทย์ เพื่อให้ทราบว่ามีการสั่งตรวจแล็บกับผู้ป่วยรายดังกล่าวแล้ว ทำให้แพทย์ไม่สั่งแล็บซ้ำ ปรับเมนูการสั่งแล็บให้เป็นการสั่งทีละรายการไม่เป็นชุด แจ้งเตือนความถี่ที่เหมาะสมในการสั่งตรวจแล็บ เพื่อจะได้ไม่ลืมการตรวจที่จำเป็นตามหลักวิชาการ มีระบบการสอบทานการสั่งตรวจแล็บโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการพูดคุยทบทวนวางแนวทางที่เหมาะสมในการสั่งตรวจแล็บในโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับบริบท ทำให้หลายโรงพยาบาลมีผลสำเร็จที่แสดงด้วยการสั่งตรวจที่เหมาะสมขึ้น โดยบางโรงพยาบาลสามารถแสดงถึงจำนวนและค่าใช้จ่ายที่ลดลงด้วย

การดำเนินการในโรงพยาบาลนำร่องได้ทำให้โรงพยาบาลอื่นเกิดความสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินการเรื่อง RLU ในเฟส 2 อีกเป็นจำนวนมากกว่า 340 โรงพยาบาลโดยเป็นโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการในเฟสแรก ทำให้มีการเพิ่มเติมแนวทางในเรื่องการตรวจก่อนการผ่าตัด การใช้เลือด การตรวจไทรอยด์ ดังนั้นจึงได้มีการจัดงานในวันนี้ขึ้น เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ชี้แจงแนวทาง และถ่ายทอดการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จจากโรงพยาบาลในเฟสแรก เพื่อให้โรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมโครงการในเฟส 2 ทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลต่อไป ซึ่งหากมีการใช้แล็บอย่างสมเหตุผลจะสามารถประหยัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน