UNFPA และ UNWOMEN เปิดตัว “Gender Journey” ร่วมผลักดันความเสมอภาคระหว่างเพศ และยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ผ่านการประชุมปฏิบัติการกับภาครัฐ เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

วันที่ 16 – 18 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประเทศไทย และ UNWOMEN เปิดตัวกิจกรรมความร่วมมือ หรือ Joint Gender Journey โดยมี น.ส.นฤดี จันทสิงห์ นักวิเคราะห์โครงการ, UNWOMEN ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้าใจประเด็นเพศภาวะ ความเสมอภาค และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การผลักดันประเด็นเพศภาวะเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพื่อการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศภายใต้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด 19” มุ่งเน้นสร้างศักยภาพ เพิ่มความตระหนักและเข้าใจในประเด็นเรื่องเพศสภาวะ ความเสมอภาคทางเพศ การส่งเสริมพลังสตรี และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบ โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมให้ความสนใจเข้าร่วมหลายแห่ง

การประชุมเริ่มต้นที่โรงแรมดุสิตดีทู ณ จังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมต้อนรับ และนางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ นักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน โอกาส และข้อท้าทาย ในประเด็นเพศภาวะเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพื่อการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ โดยมี น.ส.สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางเพศ ที่ต้องเห็นความสำคัญของทุกกลุ่ม จึงจะทำให้ประเทศนั้นพัฒนาได้อย่างมีศักยภาพสูงสุด

ต่อมา ณ โรงแรมเลอ เมอรีเดียน จังหวัดเชียงราย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย สำนักเขตการศึกษาจังหวัดเชียงราย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเชียงราย ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้โดยได้แลกเปลี่ยนการทำงาน ข้อท้าทาย และสร้างแนวทางความร่วมมือกันในประเด็นเพศภาวะ ความเสมอภาคและยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ผู้หญิงได้รับประโยชน์สูงสุด และน.ส. ศุภพิมพ์ วัณโณภาศ ผู้ประสานงานโครงการ WE RISE Together, UNWOMEN กล่าวถึงการบริการและงานโครงสร้างโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศที่ภาครัฐต้องสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมสิทธิให้ผู้หญิงมากขึ้นในการจัดจ้างงานระดับต่างๆ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดและเท่าเทียมกับผู้หญิงทำงานทุกประเภท

นางกุลวดี สุมานพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร UNFPA ประเทศไทย เน้นย้ำถึงประเด็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์นับเป็นประเด็นหลักของ UNFPA ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกเพศทุกวัยในการตัดสินใจอย่างเสมอภาคและรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพทางเพศต้องสร้างทักษะให้สังคมเรียนรู้และเข้าใจสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ให้ประชากรทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม

โปรดติดตาม เส้นทางความเท่าเทียมทางเพศและการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ หรือ Gender Journey ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ร่วมสร้างสรรค์เส้นทางนี้โดย UNFPA และ UNWOMEN ซึ่งมุ่งมั่นจะสร้างศักยภาพและเพิ่มความตระหนักในประเด็นหลักเรื่องเพศสภาวะ ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังสตรี และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เพื่อมั่นใจว่าไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน