ในปัจจุบันราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ ราคา LPG ของไทย ได้กำหนดให้สะท้อนต่อต้นทุนการผลิตและจัดหา โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีก LPG ให้อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคเศรษฐกิจน้อยที่สุด วันนี้ สนพ. จะอธิบายหลักการกลไกราคา LPG ให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการจัดหา LPG ของไทยมาจาก 3 แหล่ง คือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และการนำเข้า ซึ่งการจัดหาแต่ละประเภทจะมีต้นทุน “ราคาเนื้อก๊าซ” ต่างกัน โดยโรงกลั่นน้ำมันและการนำเข้าจะมีต้นทุนสูงตามราคาตลาดโลก ขณะที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติจะมีต้นทุนต่ำกว่าโรงกลั่นน้ำมันและการนำเข้าเพราะเป็นการนำก๊าซมาจากอ่าวไทย

  1. เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการอ้างอิงราคาเนื้อก๊าซตาม “ราคานำเข้า” เพื่อให้ผู้นำเข้า

แข่งกับผู้ผลิตในประเทศได้อย่างเสรี และเพิ่มระดับการแข่งขัน

  1. เนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศมีต้นทุนเนื้อก๊าซจากอ่าวไทยต่ำกว่าต้นทุนนำเข้า รัฐจะเก็บเงินส่วนต่างเพิ่มจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติให้ใกล้เคียงกับราคานำเข้า ซึ่งส่วนต่างที่เก็บมานี้จะถูกส่งไปไว้ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่แยกออกมาเป็นบัญชี LPG (เรียกเงินส่วนต่างที่ส่งเข้ากองทุนฯ ว่า กองทุน 1)
  1. รายรับจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชี LPG (กองทุน 1) จะถูกนำกลับไปอุดหนุนราคาต้นทุน เพื่อให้ราคาเฉลี่ยต่ำลง (เรียกเงินกองทุนฯ ที่จ่ายออกมาอุดหนุนว่า กองทุน 2)
  1. การใช้กลไกราคาและเงินกองทุนของรัฐเพื่ออุดหนุนทำให้ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ LPG ถูกลงประชาชนจะได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่มีในประเทศที่ต้นทุนต่ำ

อย่างไรก็ตาม ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ เป็นเพียงต้นทุนส่วนหนึ่งของราคา LPG ที่นำมาขายปลีกเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้งาน เพราะนอกจากต้นทุนเนื้อก๊าซแล้ว โครงสร้างราคา LPG ยังประกอบไปด้วยเงินที่เก็บเข้าเป็นภาษี กองทุน และค่าการตลาด เช่นเดียวกับโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ

#เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน

#CreateTheFutureEnergy

#กระทรวงพลังงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน