แน่นอนว่าการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรหลายคนในตอนนี้ จะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทุนหาย กำไรหด” เพราะไม่ว่าจะปลูกพืชชนิดใดในประเทศไทย ก็ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี และฮอร์โมนมาบำรุงพืชที่ตนเองปลูก โดยเฉพาะสารเคมีที่มีให้หาซื้อได้อย่างแพร่หลาย ในช่วงแรกอาจพบว่าพืชที่ปลูกนั้นเจริญเติบโต ไม่มีโรค แมลง และให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรมีการใช้สารเคมีติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้ในระยะยาวดินจะเสื่อมสภาพลงจนไม่มีประสิทธิภาพในการใช้ปลูกพืชรุ่นต่อๆ ไป

“ทองหลาง” เป็นพืชตระกูลถั่วที่เกษตรกรรู้จักมานาน มักปลูกไว้ริมคันสวนยกเป็นร่องเพื่อยึดดินและใช้เป็นปุ๋ยได้ทุกส่วน ซึ่งอุดมด้วยธาตุอาหารต่างๆที่เป็นประโยชน์เพิ่มลงดิน นอกจากนี้ รากของต้นทองหลางยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือมีปมรากที่เกิดจากไรโซเบียมที่สามารถตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นปุ๋ยได้ ต้นไม้ใกล้เคียงอื่นๆพลอยเจริญงอกงาม ต้นทองหลางจึงเหมาะเป็นพืชที่บำรุงดินได้เป็นเลิศ และเป็นเครื่องมือฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่ดีอย่างหนึ่ง จึงจัดเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติซึ่งใกล้จะถูกลืม

นายนพดล เชียววิทย์ เกษตรกร จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า “ดั้งเดิมครอบครัวของผมเป็นเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งดั้งเดิมจะมีการปลูกทองหลางก่อน 2-3 ปี จึงจะมีการลงทุเรียนหรือพืชอื่น ๆ และสามารถปลูกควบคู่กับไม้ผลได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการแย่งน้ำหรืออาหารของพืชหลัก แต่ทองหลางกลับเป็นพืชที่ช่วยสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ดินร่วนซุย และใบยังเป็นปุ๋ยให้แก่พืชรอบข้างได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง เมื่อนำทองหลางเข้ามาปลูกในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ปลูกสับปะรด มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และยังมีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงทำให้ดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก แต่เมื่อได้นำทองหลางและไม้ผลอื่น ๆ เข้ามาปลูกแบบผสมผสาน ทำให้ดินเกิดความอุดมสมบูรณ์ และให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี”

นายวิโรจน์ วิโรจน์พันธ์ ที่ปรึกษาเกษตรอินทรีย์สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กล่าวว่า “ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินได้นำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจากใบทองหลาง เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรมให้มีประสิทธิภาพในการปลูกพืชให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งทองหลางเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีไรโซเบียมซึ่งอยู่ในปมรากของทองหลาง มีบทบาทสำคัญในระบบเกษตรยั่งยืนเนื่องจากสารประกอบไนโตรเจนที่ไรโซเบียมตรึงได้จะถูกสะสมในต้นและเมื่อย่อยสลายจะปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนลงสู่ดิน ทำให้ดินคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้นาน อีกทั้งยังพบว่าใบของทองหลางเป็นพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้กรมพัฒนาที่ดินได้ขยายเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจากใบทองหลางอย่างง่าย ๆ ขนาด 5 ลิตร เพียงมีวัสดุ 3 ชนิด คือ 1.ใบทองหลาง ปริมาณ 125 กรัม 2.หัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงทองหลาง (โรโดแบคเตอร์ แคปซูลาตัส)ปริมาณ 2.5 ลิตร 3.น้ำสะอาด (ควรเป็นน้ำบาดาล) ปริมาณ 2.5 ลิตร ผสมกันและนำไปวางไว้ในที่มีแสงและอุณภูมิต่ำ และสังเกตสีของน้ำ หากมีการเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วง นำไปเก็บไว้ในที่ร่ม เมื่อต้องการใช้ผสมน้ำอัตรา 1 ต่อ 100 ช่วยให้ผักมีสีเขียวสวย พืชมีรากงอกได้ดี ช่วยให้ดินลดความเค็มลงได้และรักษาโรคเน่าโคนเน่าในทุเรียนได้เป็นอย่างดี

นายวิโรจน์ วิโรจน์พันธ์ ที่ปรึกษาเกษตรอินทรีย์สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการทดสอบการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงทองหลางในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม เพชรบุรี พบว่าพื้นที่ของเกษตรกรนั้นเห็นผลถึงความเข็งแรงและเจริญเติบโตของพืชได้ดี”

นายโชคดี ตั้งจิตร เกษตรกร ตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า “ผมดีใจมากที่ได้ความรู้เรื่องการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจากใบทองหลาง ซึ่งผมได้เรียนรู้และได้รับหัวเชื้อจุลินทรีย์มาจากโครงการพระราชดำริเขาชะงุ้ม และได้นำกลับมาผลิตต่อยอดและมีการทดสอบใช้ในแปลงผักสลัด พบว่าผักเจริญงอกงามได้เป็นอย่างดี รากยาว ลำต้นแข็งแรง ใบมีสีเขียวสดสวย ลดการใช้สารเคมี เรียกได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ราคาศูนย์บาทที่สร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน”

หากผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องการพัฒนาดินหรืออยากเรียนรู้การทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใบทองหลางสามารถเข้าไปเรียนรู้และรับหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ที่โครงการพระราชดำริเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี หรือปรึกษาหมอดินใกล้บ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน